คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 662/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยที่ 1 อยู่กินกันโดยไม่จดทะเบียนสมรสได้ตกลงกันให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเช่าซื้ออาคารสงเคราะห์เป็นผู้เช่าซื้อโดยโจทก์เป็นผู้ออกเงินค่าเช่าซื้อ และภายหลังเมื่อจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในอาคารนั้นแล้วให้โอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์หรือบุตรเมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงให้สำเร็จลุล่วงไป แต่กลับเอาสิทธิการเช่าซื้อไปโอนให้จำเลยที่ 2 เสีย เป็นเหตุให้โจทก์หรือบุตรไม่อาจรับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นได้ เช่นนี้จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นฝ่ายผิดสัญญาและต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์
การที่จำเลยที่ 2 รับโอนสิทธิเช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 โดยรู้ถึงข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าวนั้น ไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญาอย่างใดกับโจทก์ เพราะระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์หาได้มีสัญญาต่อกันอย่างใดไม่และแม้โจทก์จะก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมสิ้นเงินไป 25,000 บาท การที่จำเลยที่ 2 รับโอนสิทธิเช่าซื้ออาคารนี้มาก็ไม่เป็นลาภมิควรได้อันต้องคืนแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เคยเป็นภรรยาอยู่กินกับจำเลยที่ 1 โดยมิได้จดทะเบียนสมรส ระหว่างยังอยู่กินด้วยกัน โจทก์มีความประสงค์เช่าซื้ออาคารสงเคราะห์และที่ดินของธนาคารอาคารสงเคราะห์ไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของตน แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิเช่าซื้อได้ จึงตกลงให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้ออาคารสงเคราะห์จากธนาคารอาคารสงเคราะห์ในราคา 296,400 บาท ผ่อนส่งเป็นรายเดือน ๆ ละ 1,235 บาท โดยโจทก์เป็นผู้ออกเงินและส่งเงินค่าเช่าซื้อเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2499 โจทก์ได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อได้รวม 60 งวด เป็นเงิน 82,823.70 บาท และระหว่างปี พ.ศ. 2505 ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมอาคารสิ้นเงินไป 25,000 บาทในปี พ.ศ. 2506 จำเลยทั้งสองได้สมคบกันโอนสิทธิเช่าซื้อบ้านและที่ดินนี้ให้เป็นของจำเลยที่ 2 ซึ่งภายหลังรับโอนแล้วได้ขับไล่โจทก์ให้ออกจากอาคารและที่ดิน ไม่ยอมโอนสิทธิเช่าซื้อคืนแก่โจทก์ตามที่ขอร้อง ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าเช่าซื้อที่ดินและค่าก่อสร้างเพิ่มเติมจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อที่ดินและอาคารจากธนาคารอาคารสงเคราะห์โดยมอบให้โจทก์เป็นผู้ไปจัดการแทนตลอดจนชำระเงินซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ส่วนค่าก่อสร้างเพิ่มเติมได้ใช้เงินรายได้จากที่ให้ผู้อื่นเช่าอาคารนี้หาใช่ของโจทก์ดังฟ้องไม่ จำเลยที่ 1 ได้ให้โจทก์นำเงินไปชำระค่าเช่าซื้อตลอดจนทราบว่าโจทก์มิได้นำไปชำระหลายเดือน จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินชำระจึงต้องโอนสิทธิการเช่าให้จำเลยที่ 2 ซึ่งรับชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างด้วย และรับโอนสิทธิการเช่าโดยสุจริตมีค่าตอบแทน มิได้สมยอมหรือฉ้อฉลโจทก์

ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยที่ 1 มิได้ยอมให้โจทก์ใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 เช่าซื้อ และเห็นว่าเงินผ่อนส่งค่าเช่าซื้อและเงินก่อสร้างปรับปรุงอาคารพิพาทเป็นเงินที่ทำมาหาได้เพื่อใช้จ่ายร่วมกัน จะถือว่าเป็นของฝ่ายใดฝ่ายเดียวไม่ได้จำเลยที่ 2 ได้รับโอนมาโดยชอบ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังว่า โจทก์อาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 เช่าซื้ออาคารสงเคราะห์รายนี้เพราะโจทก์ไม่มีสิทธิเช่าซื้อได้ และได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อ60 งวด เป็นเงิน 74,100 บาท รวมทั้งค่าก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารอีกเป็นเงิน 25,000 บาท ซึ่งในส่วนหลังนี้ถือเป็นลาภมิควรได้แก่จำเลยที่ 2 พฤติการณ์เป็นการสมยอมระหว่างจำเลยทั้งสอง พิพากษากลับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้เงินจำนวน 74,100 บาท และ 25,000 บาทตามลำดับแก่โจทก์

โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินค่าเช่าซื้อและค่าก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารตามจำนวนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เงินค่าเช่าซื้อ 60 งวดเป็นของจำเลยที่ 1มอบให้โจทก์ไปชำระ ส่วนเงินค่าก่อสร้าง 25,000 บาท ไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์ หากจะมีก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1

ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องมีสัญญากันว่า ให้จำเลยที่ 1 ผู้มีสิทธิเช่าซื้อทำการเช่าซื้อทรัพย์สินนั้นมาโดยโจทก์เป็นผู้ออกเงินส่งตามสัญญาเช่าซื้อ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อมาแล้ว เพราะผลแห่งการที่โจทก์ออกเงินไป จำเลยต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ได้มานั้นให้แก่โจทก์หรือบุตรเป็นการตอบแทนเงินที่ออก เมื่อจำเลยที่ 1 ทำผิดสัญญาคือไม่ปฏิบัติตามสัญญาให้สำเร็จลุล่วงไป กลับเอาสิทธิการเช่าซื้อนั้นไปโอนให้คนอื่นเสีย ทำให้โจทก์หรือบุตรไม่อาจได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นได้ จำเลยที่ 1 ผู้กระทำผิดสัญญาก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์และเท่าที่โจทก์เรียกค่าเสียหายคิดเอาตามที่ได้ออกเงินชำระค่าเช่าซื้อไปแล้วกับค่าที่ลงทุนปรับปรุงอาคารที่เช่าซื้อไปแล้วนั้น นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายที่โจทก์ย่อมจะเรียกร้องเอากับจำเลยที่ 1 ในกรณีที่จำเลยที่ 1 อ้างเหตุผลว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์เป็นสามีภริยากัน โจทก์จึงเรียกเอาเงินนั้นจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ หรือหากจะได้ ก็ได้ไม่ทั้งหมดเพราะถือว่าเป็นเงินของจำเลยมีร่วมอยู่ส่วนหนึ่งด้วยนั้นเห็นว่าฟังไม่ได้เพราะโจทก์มิได้มีฐานะเป็นคู่สมรสโดยถูกต้องด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1แต่อย่างใด และเงินที่โจทก์ได้มาแล้วเอาชำระไปนั้นก็เป็นเงินที่โจทก์ได้มาส่วนตัว ไม่ใช่เงินที่ทำมาหาได้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1

แต่สำหรับส่วนตัวจำเลยที่ 2 แม้หากจะฟังได้ด้วยว่าเมื่อก่อนจำเลยที่ 2 จะรับโอนสิทธิการเช่าซื้อมาจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้รู้ถึงกรณีตามที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้กระทำกันมานั้นด้วยก็ตาม การที่จำเลยที่ 2ยังเข้ารับโอนสิทธิการเช่าซื้อมาทั้งที่รู้อยู่แล้วนั้น จัดไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2ได้กระทำการผิดสัญญาอันใดกับโจทก์ เพราะในระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 หาได้มีสัญญาอันใดกันไม่ และกรณีเป็นการที่จำเลยที่ 2 เข้าไปถือสิทธิเอาตามสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น ไม่มีอะไรที่เป็นลาภมิควรได้อันจำเป็นต้องคืนแก่โจทก์ตามกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้เงิน 25,000 บาทมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายจำนวน 99,100 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

Share