แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยว่าผิดสัญญาเช่าโดยไม่ชำระค่าเช่า จึงขอให้ขับไล่จำเลย ให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหายคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเกี่ยวกับการเช่าดังกล่าว โจทก์จำเลยตกลงกันด้วยวาจาว่าโจทก์ยอมให้จำเลยใช้น้ำประปาและไฟฟ้า และจำเลยต้องเป็นผู้ชำระเงินค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าที่โจทก์ได้ชำระแทนไป ข้อตกลงเรื่องโจทก์ยินยอมให้จำเลยใช้น้ำประปาและไฟฟ้า โดยจำเลยเป็นผู้ชำระเงิน เป็นข้อตกลงต่างหากจากสัญญาเช่า มิใช่เรื่องเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องคดีแรก ไม่เป็นฟ้องซ้อน หุ้นส่วนที่จะฟ้องบังคับบุคคลภายนอกในกิจการค้าของห้างหุ้นส่วนสามัญได้จะต้องเป็นผู้มีชื่อในกิจการค้านั้นตาม ป.พ.พ.มาตรา 1049 การฟ้องคดีจึงไม่จำเป็นต้องลงชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วน แต่ไม่ปรากฏชื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ในสัญญาเช่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่อาจถือสิทธิใด ๆ แก่จำเลยในการเช่านั้น และไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทั้งสี่เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญลาดกระบังเธียเตอร์ และเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์ลาดกระบังเธียเตอร์โดยมีโจทก์ที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2525จำเลยได้ทำสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์ลาดกระบังเธียเตอร์ของโจทก์ทั้งสี่ และเช่ากิจการต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 3 รายการ คือ ทำสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์หนึ่งฉบับ สัญญาเช่าสำนักงานห้องพากย์ภาพยนตร์ ห้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศหนึ่งฉบับ และสัญญาเช่าห้องใต้อัฒจันทร์โรงภาพยนตร์ ห้องควบคุมไฟฟ้า ห้องพักหลังจอภาพยนตร์อีกหนึ่งฉบับโดยมีกำหนดอายุสัญญาเช่า 3 ปี 9 เดือน เหมือนกันทั้งสามฉบับนับตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2525 ไปจนถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2529ค่าเช่าทั้งสามรายการเป็นเงินเดือนละ 30,000 บาท จำเลยจะต้องเป็นผู้ชำระค่าภาษีโรงเรือนจะต้องเป็นผู้ชำระค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าแต่ไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาเช่า จำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและนำคดีไปฟ้องที่ศาลจังหวัดมีนบุรี เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2527ศาลจังหวัดมีนบุรีพิพากษาขับไล่จำเลย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยยังมิได้ชำระค่าน้ำประปาประจำเดือนมกราคม กุมภาพันธ์และมีนาคม 2527 เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 4,511 บาท ไม่ได้ชำระค่าไฟฟ้าในเดือนธันวาคม 2526 มกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม2527 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในการผิดนัดเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน74,188.44 บาท และค้างภาษีโรงเรือนในปี 2525 เป็นเงินจำนวน16,992 บาท เบี้ยปรับจำนวน 1,699.20 บาท รวมเป็นเงินจำนวน18,691.20 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 97,390.44 บาท (ที่ถูก97,390.64 บาท) โจทก์ชำระค่าน้ำประปาแทนจำเลยเมื่อวันที่ 2สิงหาคม 2527 ชำระค่าไฟฟ้าแทนเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2528 ชำระค่าภาษีโรงเรือนและเบี้ยปรับแทนเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2529 โจทก์ทวงถามเงินดังกล่าวคืนแล้วจำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 97,390.44 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า สัญญาหุ้นส่วนเอกสารท้ายคำฟ้องมีบุคคลที่เป็นหุ้นส่วนรวม 5 คน คือ โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 3 นางสุชาดา กิติมหาคุณ และนางดารณี อุดมลาภประสิทธิดังนั้น การกระทำนิติกรรมต่าง ๆ นั้นบุคคลทั้งห้าจะต้องลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของห้างหุ้นส่วนลาดกระบังเธียเตอร์ตามข้อกำหนดของสัญญาเข้าหุ้นส่วน แต่ตามหนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้องมีบุคคลที่ลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจเพียง 3 คน คือโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3หนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ เพราะโจทก์เคยฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนี้ต่อศาลจังหวัดมีนบุรี ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และค่าภาษีโรงเรือนโจทก์สามารถที่จะฟ้องรวมมาในคดีดังกล่าวได้เพราะโจทก์ทราบดีอยู่แล้วและเป็นหนี้ที่ค้างชำระก่อนที่จะฟ้องคดี สำหรับค่าภาษีโรงเรือนในปี 2525 จำเลยไม่มีหน้าที่ที่จะต้องเสีย แต่จะเสียตั้งแต่ปี 2526 เป็นต้นไป เพราะจำเลยทำสัญญาเช่าในวันที่ 26พฤษภาคม 2525 และเข้าดำเนินกิจการในโรงภาพยนตร์ลาดกระบังเธียเตอร์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2525 ซึ่งการเสียภาษีโรงเรือนในปี 2525นั้น ตามกฎหมายจะต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีและเสียภาษีโรงเรือนภายในวันที่ 31 มีนาคม 2525 จำเลยเข้ามาอยู่และดำเนินกิจการในโรงภาพยนตร์ดังกล่าวเมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาที่จะต้องเสียภาษีโรงเรือนแล้วจำเลยจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามสัญญาที่จะต้องเสียภาษีโรงเรือนของปี 2525 ค่าน้ำประปาค่าไฟฟ้า จำเลยไม่เคยค้างชำระ ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 มิใช่ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปาที่ออกให้ห้างหุ้นส่วนลาดกระบังเธียเตอร์หรือโจทก์ หากแต่เป็นใบเสร็จรับเงินออกให้แก่โจทก์ที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำประปาในฐานะส่วนตัวโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้น้ำประปาดังกล่าวจากจำเลย ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินค่าน้ำประปาจำนวน4,511 บาท ค่ากระแสไฟฟ้าจำนวน 74,188.44 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 78,699.44 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ยกคำขอของโจทก์ในส่วนค่าภาษีโรงเรือนและเบี้ยปรับ โจทก์ไม่ฎีกา คดีเกี่ยวกับค่าภาษีโรงเรือนและเบี้ยปรับจึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าเป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 368/2528 ของศาลจังหวัดมีนบุรีหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้องของโจทก์และฎีกาของจำเลยว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 368/2528ของศาลจังหวัดมีนบุรี โจทก์ฟ้องจำเลยว่าผิดสัญญาเช่าโดยไม่ชำระค่าเช่า จึงขอให้ขับไล่จำเลย ให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหาย ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเกี่ยวกับการเช่าดังกล่าว โจทก์จำเลยตกลงกันด้วยวาจาว่า โจทก์ยอมให้จำเลยใช้น้ำประปาและไฟฟ้าแต่จำเลยต้องเป็นผู้ชำระเงินค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า จำเลยไม่ชำระค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าบางเดือน โจทก์ได้ชำระแทนไปแล้ว จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าที่โจทก์ได้ชำระแทนไปเห็นว่าข้อตกลงเรื่องโจทก์ยินยอมให้จำเลยใช้น้ำประปาและไฟฟ้าโดยจำเลยเป็นผู้ชำระเงิน เป็นข้อตกลงต่างหากจากสัญญาเช่า จึงมิใช่เรื่องเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องคดีแรก ฟ้องโจทก์คดีนี้เกี่ยวกับค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่าโจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องหรือไม่จำเลยฎีกาว่า ตามสัญญาหุ้นส่วนท้ายฟ้อง มีผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน5 คน คือ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 นางสุชาดา กิติมหาคุณ และนางดารณีอุดมลาภประสิทธิ ในการฟ้องคดีจะต้องให้บุคคลทั้งห้าลงลายมือชื่อร่วมกัน แต่หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องคงมีแต่ลายมือชื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบ ทั้งหนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารปลอม นั้นเห็นว่า แม้ห้างหุ้นส่วนสามัญลาดกระบังเธียเตอร์จะมีหุ้นส่วนหลายคนแต่ในเรื่องความเกี่ยวพันกับบุคคลภายนอกนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1049 บัญญัติว่า “ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใด ๆแก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนนั้นหาได้ไม่”แสดงว่าหุ้นส่วนที่จะฟ้องขอบังคับบุคคลภายนอกในกิจการค้าของห้างหุ้นส่วนจะต้องเป็นผู้มีชื่อในกิจการค้านั้น การที่หุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญฟ้องคดีจึงไม่จำเป็นต้องลงชื่อ บรรดาผู้ถือหุ้นทุกคนดังที่จำเลยฎีกา แต่อย่างไรก็ตามปรากฏตามสัญญาเช่าเอกสารหมายจ.4 ถึง จ.6 ว่า มีแต่ชื่อโจทก์ที่ 1 ในสัญญา ไม่ปรากฏชื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ในสัญญาเช่าด้วย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่อาจถือสิทธิใด ๆ แก่จำเลยในการเช่านี้ และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ ส่วนโจทก์ที่ 1มีชื่อเป็นคู่สัญญากับจำเลยและประกอบกับโจทก์ที่ 1 ที่ 4 เบิกความรับรองหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ว่า โจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 4 ฟ้องคดีแทนโดยจำเลยไม่มีพยานนำสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่ามีการมอบอำนาจถูกต้องโจทก์ที่ 1 มีอำนาจฟ้อง ปัญหาที่จะวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าน้ำประปาหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปาออกให้แก่โจทก์ที่ 4 มิได้ออกให้แก่ห้างหุ้นส่วนสามัญลาดกระบังเธียเตอร์ จึงนำมาฟ้องจำเลยไม่ได้เห็นว่า แม้ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปาตามเอกสารหมาย จ.11 ถึง จ.15 จะระบุชื่อโจทก์ที่ 4 มิได้ระบุชื่อห้างหุ้นส่วนสามัญลาดกระบังเธียเตอร์ตามที่จำเลยฎีกาแต่โจทก์ที่ 1กับโจทก์ที่ 4 เบิกความว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะโจทก์ที่ 4 เป็นผู้ขออนุญาตใช้น้ำประปา นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายชาญเกียรติศักดิ์โสภณ ผู้จัดการสำนักงานประปามีนบุรีเบิกความว่าใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.11 ถึง จ.15 เป็นการชำระเงินในนามของโจทก์ที่ 4 ซึ่งใช้น้ำประปาที่โรงภาพยนตร์ลาดกระบังเธียเตอร์ที่จำเลยเช่าไปจากโจทก์ เมื่อพิจารณาประกอบกันแล้ว พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังว่าใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.11 ถึงจ.15 เป็นใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปาของโรงภาพยนตร์ลาดกระบังเธียเตอร์ที่โจทก์ชำระแทนจำเลยนั่นเอง จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้คืนแก่โจทก์ที่ 1 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องคดีสำหรับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4.