คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2576/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สิ่งใดที่บุคคลธรรมดาอาจตรวจเห็นได้แล้ว ศาลก็ย่อมตรวจเห็นเองได้ ศาลจึงมีอำนาจตรวจลายมือชื่อจำเลยในเอกสารหลายฉบับเปรียบเทียบกัน เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีได้ โดยศาลเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของบุคคลเดียวกัน ทั้งที่ผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจพิสูจน์แล้วลงความเห็นได้แต่เพียงว่าน่าเชื่อว่าจะไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ชำระเงินให้แก่โจทก์ 1,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยให้จำเลยที่ 4ร่วมรับผิดในจำนวนเงินดังกล่าว แต่สำหรับดอกเบี้ยให้รับผิดเพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3 โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ได้ความในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 1ธันวาคม 2521 จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตของห้างจำเลยที่ 1 ที่จะมีต่อโจทก์ไว้แก่โจทก์ โดยยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ดังปรากฏตามหนังสือค้ำประกันหมาย จ.4 ปัญหาวินิจฉัยมีว่าเมื่อวันที่ 22 เดือนเดียวกันห้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการได้ทำสัญญาการขายลดเช็คหมาย จ.5 ไว้แก่โจทก์หรือไม่ สัญญาดังกล่าวไม่มีผู้ใดลงนามเป็นพยาน มีแต่ลายมือชื่อในช่องผู้ให้สัญญา ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และได้อ้างลายมือชื่อของจำเลยที่ 2ในคำขอจดทะเบียนห้างจำเลยที่ 1 หมาย จ.14 มาให้ศาลพิจารณาเปรียบเทียบ จำเลยที่ 2 เบิกความรับว่า ลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนหมาย จ.14 เป็นลายมือชื่อของตนจริง แต่ปฏิเสธว่าลายมือชื่อในช่องผู้ให้สัญญาตามสัญญาการขายลดเช็คหมาย จ.5 ไม่ใช่ลายมือชื่อของตนและจำเลยที่ 2 ได้เซ็นชื่อตัวอย่างลายมือชื่อของตนไว้ต่อหน้าศาลตามสารบาญอันดับที่ 74 ดังนี้จะถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบว่าลายมือชื่อในสัญญาการขายลดเช็คหมาย จ.5 เป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 นั้นย่อมไม่ได้ เพราะสิ่งใดที่บุคคลธรรมดาอาจตรวจเห็นได้แล้ว ศาลก็ย่อมตรวจเห็นเองได้ ศาลจึงมีอำนาจตรวจลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวเปรียบเทียบกัน เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีได้ศาลฎีกาได้พิจารณาลายมือชื่อในสัญญาการขายลดเช็คหมาย จ.5กับลายมือชื่อที่จำเลยที่ 2 เซ็นชื่อต่อหน้าศาลและลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนหมาย จ.14 แล้ว เห็นว่า มีลักษณะการเขียน ช่องไฟของตัวอักษร และรูปลักษณะของตัวอักษร ตลอดจนความหนักเบาของลายเส้นตัวอักษรคล้ายคลึงกันเป็นส่วนมาก น่าเชื่อว่าลายมือชื่อเหล่านี้เป็นของบุคคลคนเดียวกันยิ่งกว่านั้นจำเลยที่ 2 เองก็เบิกความรับว่าตราที่ประทับในสัญญาการขายลดเช็คหมาย จ.5 เป็นตราของห้างจำเลยที่ 1 จริง พยานหลักฐานของโจทก์ จึงมีน้ำหนักมั่นคง ส่วนข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่น่าเชื่อดังเหตุผลที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้แล้ว และที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ขอให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2นั้น ปรากฏตามรายงานผลการตรวจพิสูจน์ข้อ 2 วรรคสองว่า ลายมือชื่อผู้ให้สัญญาการขายลดเช็คหมาย จ.5 เปรียบเทียบกับลายมือชื่อนายพินิจจิรภิญโญ (จำเลยที่ 2) ในใบแต่งทนายและตัวอย่างลายมือชื่อที่เขียนต่อหน้าศาล ลายมือชื่อในสัญญาหมาย จ.5 ที่เป็นปัญหามีลักษณะในการเขียนตัวอักษรและคุณสมบัติของลายเส้นแตกต่างกับตัวอย่างลายมือชื่อในเอกสารมาตรฐานในสาระสำคัญ แต่เนื่องจากมีลักษณะดังกล่าวไม่มากนัก จึงลงความเห็นได้แต่เพียงว่าน่าเชื่อว่าจะไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน รายงานของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า หากได้ยืนยันว่าลายมือชื่อของผู้ให้สัญญาตามสัญญาการขายลดเช็คหมาย จ.5 ไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ที่เซ็นต่อหน้าศาลไม่ เพราะมีลักษณะในการเขียนตัวอักษรและคุณสมบัติของลายเส้นแตกต่างกันไม่มากนัก และที่ผู้เชี่ยวชาญรายงานว่าแตกต่างกันในสาระสำคัญ ก็ไม่ปรากฏว่าแตกต่างกันอย่างไร ภาพที่แสดงประกอบรายงานผลการตรวจพิสูจน์คงปรากฏเพียงว่า ลายมือชื่อผู้ให้สัญญาในสัญญาหมาย จ.5 เซ็นตัวอักษร “พ” คล้ายกับอักษร “ผ” เท่านั้นแต่ก็ปรากฏว่าภาพลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ที่เซ็นต่อหน้าศาลบางภาพกับภาพลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในคำขอจดทะเบียนหมาย จ.14 ซึ่งจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นลายมือชื่อของตนจริงมีลักษณะคล้ายอักษร “ผ”เช่นกัน เมื่อโจทก์จำเลยมิได้ตกลงท้ากันให้ถือเอาความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเป็นข้อแพ้ชนะกันแล้ว ลำพังแต่เพียงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะชี้ขาดได้ว่า ลายมือชื่อในช่องผู้ให้สัญญาในสัญญาการขายลดเช็คหมาย จ.5 ไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้”

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความสองศาลรวมเป็นเงิน 15,000 บาท

Share