คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2571/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งของนายกรัฐมนตรีสั่งโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515 ให้ทรัพย์สินของบุคคลที่ระบุในคำสั่งซึ่งอายัดไว้แล้วตกเป็นของรัฐ หากบุคคลใดอ้างว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของตนให้ยื่นคำร้องขอคืนต่อคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้น เมื่อตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวระบุว่าในการที่คณะกรรมการเห็นว่าผู้ยื่นคำร้องไม่อาจพิสูจน์ให้เป็นที่ พอใจได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ตนได้มาโดยสุจริตโดยชอบ ให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดไม่คืนทรัพย์สินให้และการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด ดังนี้ ตามปกติผู้ยื่นคำร้องหาอาจนำเรื่องราวมาฟ้องร้องต่อศาลเกี่ยวกับการวินิจฉัยชี้ขาดอันเป็นดุลยพินิจในการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการได้อีกไม่ เว้นแต่จะปรากฏว่าการใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการนั้นเป็นการใช้โดยไม่สุจริต เพื่อกลั่นแกล้งผู้ยื่นคำร้องหรือเป็นการใช้ดุลยพินิจชี้ขาดอันขัดแย้งต่อพยานหลักฐาน
แม้โจทก์จะกล่าวอ้างในฟ้องที่เรียกทรัพย์ซึ่งคณะกรรมการไม่คืนให้โจทก์ว่าการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลทั้งในด้านกฎหมายและข้อเท็จจริง ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมต่อโจทก์โดยชอบด้วยหลักนิติศาสตร์ เป็นการวินิจฉัยที่ไม่สุจริตก็ตามแต่เหตุผลที่โจทก์อ้างว่าคำวินิจฉัยนั้นไม่ชอบด้วยเหตุผลและไม่สุจริตก็ปรากฏ เพียงว่าคณะกรรมการมิได้สอบสวนหรือพิสูจน์ หรือไม่เรียกโจทก์ไปสอบสวนหรือพิสูจน์ก่อนทั้ง ๆ ที่โจทก์มีพยานหลักฐานพร้อมเหตุผลเพียงเท่านี้จะถือว่าคณะกรรมการกระทำโดยไม่ชอบด้วยเหตุผลและไม่สุจริต หาได้ไม่ เพราะเมื่อคณะกรรมการเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์ยื่น เพื่อขอรับทรัพย์สินคืนไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้มาโดยสุจริตและโดยชอบ คณะกรรมการก็ชอบที่จะวินิจฉัยชี้ขาดไปได้ทีเดียว หาจำต้องทำการสอบสวนหรือพิสูจน์ต่อไปอีกไม่ศาลจึงชอบที่จะไม่รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินของจอมพลถนอมกับพวก ต่อมาจำเลยที่ ๓ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๑๕ ได้ออกคำสั่งให้ทรัพย์สินของจอมพลถนอมกับพวกที่อายัดไว้นั้นตกเป็นของรัฐ และให้กระทรวงการคลังจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในนามของรัฐ หากบุคคลใดอ้างว่าทรัพย์สินที่ตกเป็นของรัฐตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีเป็นของตนให้ยื่นคำร้องพร้อมด้วยหลักฐานต่อคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นภายใน ๖๐ วัน ถ้าผู้ร้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นทรัพย์สินของตนที่ได้มาโดยสุจริตและโดยชอบก็ให้คณะกรรมการโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี สั่งให้กระทรวงการคลังคืนทรัพย์แก่ผู้ยื่นคำร้อง จำเลยที่ ๓ ได้ออกคำสั่งตั้งจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๑๐ เป็นคณะกรรมการ และจำเลยที่ ๑๐ เป็นเลขานุการ คณะกรรมการและเจ้าพนักงานที่แต่งตั้งได้อายัดทรัพย์โจทก์ไป โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินของท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการขอคืนทรัพย์ของโจทก์โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินของโจทก์ที่ได้มาโดยสุจริตและ โดยชอบ เป็นทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับสามี จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๑๐ พิจารณาคำร้องของโจทก์แล้ว ได้มีหนังสือตอบปฏิเสธไม่คืนให้โจทก์อ้างว่าโจทก์มิได้พิสูจน์ให้เป็นที่พอใจของกรรมการว่าเป็นสินสมรสที่โจทก์มีส่วน ร่วมด้วย เมื่อสามีโจทก์ได้ทำพินัยกรรมให้ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิในทรัพย์นี้ซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยเหตุผลและขัดต่อคำสั่งของนายกรัฐมนตรี เพราะทรัพย์นั้นเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับสามี เมื่อสามีโจทก์ถึงแก่กรรมสินสมรสนั้นตกเป็นของโจทก์ ๑ ส่วน ตกเป็นของสามี ๒ ส่วน สามีโจทก์ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร พินัยกรรมจึงมีผลเฉพาะสินสมรสส่วนของสามีโจทก์เท่านั้น สินสมรสส่วนของโจทก์หาตกเป็นของท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร ด้วยไม่ ทรัพย์สินของโจทก์ดังกล่าวโจทก์ได้มาโดยสุจริตโดยชอบ การพิจารณาของคณะกรรมการโดยจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๑๑ เป็นการวินิจฉัยที่ไม่สุจริต เพราะมิได้สอบสวนหรือพิสูจน์ว่าโจทก์ได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยไม่สุจริตไม่ชอบอย่างไรไม่ให้โจทก์พิสูจน์หรือเรียกโจทก์ ไปสอบสวนพิสูจน์ ทั้ง ๆ ที่โจทก์เสนอที่จะนำพยานหลักฐานเข้าพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้มาโดยสุจริตและโดยชอบ นอกจากนี้คณะกรรมการยังถือเอาเหตุผลทางการเมืองเป็นหลักในการพิจารณา โดยมิได้ถือเอาเหตุผลทางกฎหมายเป็นหลักวินิจฉัยโจทก์มิใช่บุคคลผู้อยู่ในข่ายตามบทบัญญัติมาตรา ๑๗ คำสั่งของนายกรัฐมนตรีทั้งสองฉบับไม่มีผลบังคับต่อโจทก์ จำเลยทั้งหมดจึงต้องรับผิดคืนทรัพย์ให้โจทก์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ คือจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๑๐ ปัญหาว่าโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๑๐ ได้หรือไม่ปรากฏตามข้อ ๗ ของคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร.๓๙/๒๕๑๗ ซึ่งสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ ว่า ในการที่คณะกรรมการเห็นว่าผู้ยื่นคำร้องไม่อาจพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ตนได้มาโดยสุจริตและโดย ชอบ ให้คณะกรรมการบันทึกการวินิจฉัยชี้ขาดการไม่คืนทรัพย์สินให้ปรากฏไว้เป็นหลักฐาน การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการให้เป็นที่สุดเมื่อคำสั่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวให้การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรม การเป็นที่สุดเช่นนี้ ตามปกติผู้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการหาอาจนำเรื่องนั้นมาฟ้องร้องต่อศาลเกี่ยวกับการวินิจฉัยชี้ขาดอันเป็นดุลยพินิจ ของคณะกรรมการได้อีกไม่ เว้นแต่จะปรากฏว่าการใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการนั้นเป็นการใช้โดยไม่สุจริตเพื่อกลั่นแกล้งผู้ยื่นคำร้อง หรือเป็นการใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัยชี้ขาดอันขัดแย้งต่อพยานหลักฐาน คดีนี้แม้โจทก์จะกล่าวในฟ้องว่าการวินิจฉัยของคณะกรรมการเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลทั้งในข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงไม่ให้ความเป็นธรรมต่อโจทก์โดยชอบด้วยหลักนิติศาสตร์ ตามนัยแห่งกระบวนการยุติธรรมเป็นการวินิจฉัยที่ไม่สุจริตก็ตาม แต่เหตุผลที่โจทก์อ้างว่าคำวินิจฉัยนั้นไม่ชอบด้วยเหตุผลและไม่สุจริต ก็ปรากฏเพียงว่าคณะกรรมการมิได้สอบสวนหรือพิสูจน์หรือไม่ได้เรียกโจทก์ไปสอบสวนหรือพิสูจน์ก่อน ทั้ง ๆ ที่โจทก์มีพยานหลักฐานว่าเป็นทรัพย์สินของโจทก์ที่เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับสามีและคณะกรรมการถือเอาเหตุผล ทางการเมืองเป็นหลักในการวินิจฉัยเท่านั้น เหตุผลเพียงเท่านี้จะถือว่าคณะกรรมการกระทำการโดยไม่ชอบด้วยเหตุผลและไม่สุจริตหาได้ไม่เพราะตามคำสั่งของ นายกรัฐมนตรีที่ สลร.๓๙/๒๕๑๗ ข้อ ๗ ระบุไว้ว่าเมื่อคณะกรรมการเห็นว่าผู้ร้องไม่อาจพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจว่าเป็นทรัพย์สินที่ตนได้มาโดยสุจริตและโดยชอบ คณะกรรมการก็มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดไม่คืนทรัพย์สินให้ได้ โดยเพียงแต่บันทึกการวินิจฉัยชี้ขาดให้ปรากฏเป็นหลักฐานไว้เท่านั้น ดังนั้นเมื่อคณะกรรมการเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์ยื่นเพื่อขอรับทรัพย์สินคืนไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้มาโดยสุจริตและโดยชอบ คณะกรรมการก็ชอบที่จะวินิจฉัยชี้ขาดไปได้ทีเดียว หาจำต้องทำการสอบสวนหรือพิสูจน์ต่อไปอีกไม่ ส่วนคณะกรรมการจะใช้เหตุผลทางการเมืองหรือเหตุผลทางกฎหมาย ในการใช้ดุลยพินิจชี้ขาดนั้นก็เป็นเรื่องของการใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการจะอ้างว่าไม่สุจริตมิได้ คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการจึงเป็นที่สุดโจทก์จะนำคดีมาฟ้องโต้แย้งคำวินิจฉัยชี้ขาดนั้นอีกมิได้ เมื่อโจทก์ไม่อาจฟ้องจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๑๐ ให้ต้องรับผิดแล้ว จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่อยู่ในฐานะที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยที่ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาจึงชอบแล้ว พิพากษายืน

Share