แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์จองซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์จากจำเลย 2 แปลง คือแปลงหมายเลข 1314 และ 1315 โดยวางเงินจองไว้แปลงละ 100,000 บาท ย่อมถือได้ว่าเป็นการให้มัดจำและเป็นหลักฐานว่าได้ทำสัญญากันแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 แม้ตามใบจองซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์จะมีข้อความว่าให้ทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกัน และโจทก์จำเลยยังไม่ได้ทำก็ตาม แต่ใบจองดังกล่าวระบุราคาขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ไว้ และระบุว่าวางเงินจองจำนวน 100,000 บาท กับระบุค่าโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยเป็นผู้ชำระ ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่าตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์กันต่อไป กรณีจึงมีสาระสำคัญครบถ้วนเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ระหว่างโจทก์กับจำเลย ดังนั้น ใบจองซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ทั้งสองแปลงจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย
ข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นอ้างในฎีกา ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อหนี้ที่ต่างต้องชำระมิได้กำหนดเวลาไว้แน่นอน ต่างฝ่ายย่อมเรียกให้อีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ได้โดยพลัน โดยกำหนดระยะเวลาพอสมควร บอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ประกอบมาตรา 369 การที่จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1314 โดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระหนี้ แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ จำเลยมีสิทธิรับเงินมัดจำ จำนวน 100,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแปลงหมายเลข 1315 จำเลยบอกเลิกสัญญาโดยมิได้บอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ก่อนจึงไม่ชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างบอกเลิกสัญญาต่อกัน แม้ไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญาตามพฤติการณ์ แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่าสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1315 จึงไม่มีผลผูกพันกันต่อไป กรณีไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิรับเงินมัดจำจำนวน 100,000 บาท
สำหรับเงินค่าทำสัญญาที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์สองแปลง เป็นเงินแปลงละ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 200,000 บาท นั้น ไม่ใช่มัดจำ แต่เป็นการชำระราคาค่าที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์บางส่วน เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกันแล้ว คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ส่วนเงินที่จะต้องใช้คืนแก่กันให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดแต่เวลาที่ได้รับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1315 และราคาที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ทั้งสองแปลงบางส่วนดังกล่าวที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไว้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2545 อันเป็นวันที่รับไว้เป็นต้นไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 5 กรกฎาคม 2545) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ใบจองซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ทั้งสองแปลงเป็นสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์จองซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์จากจำเลย 2 แปลง โดยวางเงินจองไว้แปลงละ 100,000 บาท ย่อมถือได้ว่าเป็นการให้มัดจำและเป็นหลักฐานว่าได้ทำสัญญากันขึ้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 แม้ตามใบจองซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์มีข้อความว่าให้ทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกันและโจทก์จำเลยยังไม่ได้ทำก็ตาม แต่ใบจองดังกล่าวระบุราคาขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ไว้ และระบุว่าวางเงินจองจำนวน 100,000 บาท กับระบุค่าโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยเป็นผู้ชำระซึ่งตามแผนผังที่ดินและภาพถ่ายอาคารพาณิชย์จำนวน 4 ภาพ ประกอบกับข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นฟังได้ว่าที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ที่โจทก์จองซื้อเป็นแปลงหมายเลข 1314 และ 1315 ในแผนผังที่ดิน แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่าตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์กันต่อไป กรณีจึงมีสาระสำคัญครบถ้วนเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ระหว่างโจทก์กับจำเลย ดังนั้นใบจองซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ทั้งสองแปลงจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า นางสาววธู ตัวแทนโจทก์เป็นผู้ลงนามในฐานะผู้จอง และนางภัทรพร ลงนามในฐานะผู้รับจอง ใบจองดังกล่าวไม่อาจถือได้ว่าเป็นสัญญาจะซื้อจะขายเพราะผู้รับจองมิได้มีอำนาจขายทรัพย์สิน แต่ผู้มีอำนาจขายทรัพย์สินได้คือบริษัทจำเลยนั้น เห็นว่า เป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้นอ้างในฎีกา ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาข้อต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและต้องคืนเงินให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 วรรคแรก บัญญัติว่า ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายการเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ใช้สิทธิเลิกสัญญาได้นั้นจะต้องเป็นผู้มีสิทธิเลิกสัญญา โดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มิใช่ว่าจะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ตามอำเภอใจ เมื่อพิจารณาสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ตามใบจองซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้วไม่มีข้อความที่ระบุข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยว่าให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้หากโจทก์ประสงค์จะซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์เพียงแปลงเดียวตามที่โจทก์อ้าง ทั้งการที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ทั้งสองแปลงกับจำเลยตามหนังสือเรื่อง ขอยกเลิกการจองซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์ ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีสิทธิเลิกสัญญาโดยเหตุใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อหนี้ที่ต่างต้องชำระต่อกันมิได้กำหนดเวลาลงไว้แน่นอน ต่างฝ่ายย่อมเรียกให้อีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ได้โดยพลันโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาที่กำหนดนั้นได้ หากจำเลยประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวไปยังโจทก์ให้ชำระราคาที่ค้างชำระโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรก่อนและจำเลยจะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อโจทก์ด้วยว่าจำเลยพร้อมจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ให้แก่โจทก์แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ประกอบมาตรา 369 การที่จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์เฉพาะแปลงหมายเลข 1314 เพียงแปลงเดียว โดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก่อน แต่โจทก์เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาดังกล่าวจำเลยจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ การบอกเลิกสัญญาของจำเลยเฉพาะที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1314 ชอบแล้ว และถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายต่อจำเลย จำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 100,000 บาท ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 (2) ส่วนที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1315 นั้น จำเลยบอกเลิกสัญญาโดยมิได้บอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ก่อนจึงไม่ชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างบอกเลิกสัญญาต่อกันแม้ไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา ตามพฤติการณ์แสดงให้เห็นเจตนาของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายว่าสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1315 จึงไม่มีผลผูกพันกันต่อไป กรณีไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 100,000 บาท สำหรับเงินค่าทำสัญญาที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์สองแปลง เป็นเงินแปลงละ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 200,000 บาทนั้น มิใช่มัดจำแต่เป็นการชำระราคาที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์บางส่วน เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกันแล้ว คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนแก่กันให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดแต่เวลาที่ได้รับไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1315 และราคาที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ทั้งสองแปลงบางส่วนดังกล่าวที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไว้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2545 อันเป็นวันที่รับไว้เป็นต้นไป แต่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2545 อันเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2545 อันเป็นวันที่รับไว้ได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบมาตรา 246 และ 247 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 กรกฎาคม 2545) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ