แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้โจทก์จะนำสืบได้ตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(9)แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวก็เป็นเพียงเหตุหนึ่งที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้เท่านั้น ส่วนการพิจารณาของศาลจะต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ทั้งนี้ตามมาตรา 14 เมื่อจำเลยเป็นทายาทของเจ้ามรดก และเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกคือที่ดิน 3 แปลง ที่ดินมรดกดังกล่าวจึงตกทอดแก่จำเลยทันทีที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1599,1600 แม้จำเลยจะยังมิได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว ก็หาทำให้สิทธิในที่ดินทั้งสามแปลงเปลี่ยนแปลงไม่ และแม้ที่ดินนั้นจะติดจำนอง แต่เมื่อรวมหนี้จำนองกับจำนวนหนี้ที่จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์แล้วต่ำกว่าราคาที่ดินจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยยังไม่เป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบและจำเลยมิได้โต้เถียงฟังได้ว่า โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 55/2524 ของศาลชั้นต้น แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์ขอหมายบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดเมื่อวันที่21 กันยายน 2527 ได้เงินมาชำระหนี้โจทก์เพียงบางส่วน เมื่อหักกับยอดหนี้ทั้งหมดแล้ว จำเลยต้องชำระหนี้โจทก์อีก 89,117.86 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินดังกล่าวต่อมาจนถึงวันที่ 23 เมษายน 2534ซึ่งเป็นวันฟ้อง จำเลยยังเป็นหนี้โจทก์รวมเป็นเงิน 177,197.85 บาทโจทก์ทวงถามเป็นหนังสือให้จำเลยชำระหนี้ 2 ครั้ง มีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วไม่นำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์จึงนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะนำสืบได้ตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(9) แล้วก็ตาม แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวเป็นเพียงเหตุหนึ่งที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้เท่านั้น ส่วนการพิจารณาของศาลจะต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ทั้งนี้ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าว ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 393/2532 ระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดเชียงใหม่สมบูรณ์บริการ กับพวก จำเลย เห็นว่า จำเลยได้ให้การถึงที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวว่าเป็นของจำเลย โดยการรับมรดกมาจากมารดา และศาลชั้นต้นได้แต่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก ที่ดินทั้งสามแปลงมีราคารวมกันไม่ต่ำกว่า 1,650,000 บาท นอกจากนั้นจำเลยยังมีรายได้และทรัพย์สินอื่นอีกพร้อมแนบสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกของศาลชั้นต้นและสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ของที่ดินทั้งสามแปลงมาท้ายคำให้การ ซึ่งปรากฏในคำสั่งของศาลชั้นต้นได้ความตามทางไต่สวนของจำเลยในฐานะผู้ร้องว่าจำเลยเป็นบุตรเพียงคนเดียวของเจ้ามรดกเท่านั้นโดยโจทก์ไม่นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น ที่ดินมรดกดังกล่าวจึงตกทอดแก่จำเลยทันทีที่มารดาถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1599, 1600 แม้จำเลยจะยังมิได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินทั้งสามแปลงใส่ชื่อจำเลยในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ดังกล่าว ก็หาทำให้สิทธิในที่ดินทั้งสามแปลงของจำเลยตามกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป ทั้งจำเลยเบิกความยืนยันว่าที่ดินทั้งสามแปลงมีราคาจริงตามที่จำเลยให้การไว้ ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวมีราคารวมกันไม่ต่ำกว่า 1,650,000 บาทโดยติดจำนองธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาตระการพืชผล คิดหนี้ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2534 เป็นจำนวนเงินเพียง 24,610.84 บาท อันเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ และไม่ปรากฏจำเลยเป็นหนี้ผู้อื่นอีก เมื่อรวมหนี้จำนองและหนี้ที่โจทก์ฟ้องแล้วเป็นเงิน200,000 บาทเศษ เพียงที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวของจำเลยก็มีราคาเกินกว่าหนี้ของโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิติดตามบังคับคดีชำระหนี้ได้พออยู่แล้ว ที่โจทก์อ้างว่าที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวยังไม่แน่นอนว่าจะตกทอดได้แก่จำเลยหรืออาจเป็นไปได้ว่ามีข้อพิพาทโต้แย้งสิทธิหรือมีภาระหนี้สินผูกพันเกี่ยวกับหนี้สินของมารดาจำเลยนั้น เห็นว่า เป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์เอง โจทก์หาได้นำสืบพยานหลักฐานใดสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าวของตนแต่อย่างใดไม่ จึงไม่อาจรับฟังได้ ส่วนฎีกาโจทก์ที่ว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.6ล.7 ซึ่งมีชื่อนางพัชนี บัวพา ภริยาของจำเลยเป็นเจ้าของ อาจเป็นสินส่วนตัวของภริยาจำเลยนั้น ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีนี้จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน