แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ทางพิพาทอยู่ในเขตโฉนดของจำเลย แต่ใช้เป็นทางสัญจรมา50-60 ปี เป็นทางสาธารณะ จำเลยนำเสาไปปักขวาง นายอำเภอซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายออกคำสั่งให้จำเลยถอนเสาไม้ออกไป จำเลยทราบคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตาม จำเลยย่อมมีความผิด
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีกรมอัยการรับรองศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ปรับจำเลย 100 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าทางพิพาทไม่ใช่ทางสาธารณะนั้น ทางพิจารณาคงได้ความว่า ทางพิพาทนี้ใช้เป็นทางสัญจรไปมา 50 – 60 ปีมาแล้ว ไม่เคยมีผู้ใดขัดขวางหวงห้าม เมื่อ 2 – 3 ปีมานี้ นางจู เกรอด เป็นความเรื่องรุกล้ำที่ดินกับจำเลย ได้มีการทำแผนที่พิพาทสอบเขตกัน จึงปรากฏว่าที่พิพาทส่วนหนึ่งอยู่ในเขตโฉนดที่ดินจำเลยดังนั้นในวันที่ 13 มิถุนายน 2520 จำเลยจึงเอาเสาไม้มะขามไปปักไว้ในทางตามเขตโฉนดจำเลยเพื่อไม่ให้นางจูใช้ทางเป็นเหตุให้ราษฎรอื่นเดือดร้อนไปด้วย รถบรรทุกของเข้าออกไม่ได้ เห็นว่า ทางพิพาทได้ใช้กันมา 50 – 60 ปีแล้ว เป็นทางสาธารณะมาก่อนที่ดินจะตกทอดมาถึงจำเลยเสียอีกมีแนวต้นมะขามข้างทางเป็นแนวตรง ต้นมะขามแต่ละต้นเป็นต้นใหญ่ปลูกมานานแล้ว ทางราชการก็ได้บำรุงรักษานำหินลูกรังไปซ่อมแซมให้กันตลอดมา จำเลยก็ทราบดี จำเลยเพิ่งเอาเสาไม้มะขามไปปักไว้ที่ปากทางเข้าหมู่บ้านเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2520 นี้เอง อ้างว่าเป็นแนวเขต ส่วนป้ายไม้ที่มีข้อความว่าทางส่วนบุคคลก็เพิ่งนำไปปักได้ประมาณเดือนเศษ เมื่อทางพิพาทเป็นทางสาธารณะมาก่อนที่มีการสอบเขตกัน การที่จำเลยนำเสาไปปักขวางทางครั้นนายอำเภอซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายออกคำสั่งให้จำเลยถอนเสาไม้ออกไปจากทางสาธารณะ จำเลยทราบคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตามจำเลยย่อมมีความผิด”
พิพากษายืน