แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 353 ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมขอถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) และโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลบังคับจำเลยคืนหรือใช้เงินที่ขาดแก่โจทก์ร่วม ส่วนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265 ไม่ใช่ความผิดอันยอมความได้ สิทธิฟ้องของอัยการยังไม่ระงับ
เมื่อมีลูกค้าแต่ละรายนำเงินมาชำระ จำเลยก็ปลอมสำเนาใบเสร็จรับเงินให้มีจำนวนเงินน้อยกว่าเงินที่รับจริงแล้วยักยอกเงินส่วนที่เกินไว้นั้น การปลอมสำเนาใบเสร็จรับเงินฉบับหนึ่งแล้วยักยอกเอาเงินจำนวนที่เกินกว่าสำเนาใบเสร็จนั้นไว้ครั้งหนึ่ง ย่อมเป็นความผิดสำเร็จกรรมหนึ่งตั้งแต่เวลายักยอกเงินจำนวนนั้นแล้ว การที่จำเลยรวบรวมเงินแต่ละวันส่งให้หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ร่วม เป็นแต่เพียงการปฏิบัติตามหน้าที่ของจำเลย หาใช่เป็นการยักยอกเงินในตอนนั้นไม่
สำเนาใบเสร็จรับเงินเป็นเพียงหลักฐานแสดงว่าได้มีการออกต้นฉบับใบเสร็จรับเงินมีข้อความตรงกับสำเนาใบเสร็จเท่านั้น ไม่ใช่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอนสงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ อันจะถือว่าเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดพัทลุงไทยยนต์กลการจำเลยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เก็บเงินจากลูกค้าและออกใบเสร็จรับเงิน แล้วรวบรวมเงินที่เก็บได้แต่ละวันส่งมอบแก่หุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย พร้อมกับส่งสำเนาใบเสร็จรับเงินของแต่ละวันไปให้ตรวจสอบด้วย จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมกล่าวคือ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ จำเลยปลอมสำเนาใบเสร็จรับเงินอันเป็นเอกสารสิทธิของห้างผู้เสียหายจำนวน ๒ ใบ โดยแต่ละครั้งจำเลยกรอกจำนวนเงินเท็จลงในช่องการชำระเงินของสำเนาใบเสร็จรับเงินให้มีจำนวนน้อยกว่าที่กรอกลงในต้นฉบับใบเสร็จรับเงินที่จำเลยออกมอบให้แก่ลูกค้า แล้วจำเลยเบียดบังเอาเงินที่ลูกค้าชำระแก่ผู้เสียหายไป ๒๐ ครั้ง จำเลยมอบสำเนาใบเสร็จดังกล่าวกับเงินสดน้อยกว่าจำนวนที่รับจริงให้แก่หุ้นส่วนผู้จัดการเพื่อตรวจ เมื่อผู้ตรวจได้รับเงินและลงลายมือชื่อกำกับในสำเนาใบเสร็จรับเงินแล้ว จำเลยรับสำเนาใบเสร็จรับเงินคืนมาและได้แก้ไขจำนวนเงินเท็จให้มีจำนวนเท่ากับที่ปรากฏในต้นฉบับ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ จำเลยปลอมเอกสารและยักยอกเงินไปรวม๗๒๘ ครั้ง เป็นสำเนาใบเสร็จรับเงิน ๗๒๘ ฉบับ และในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ จำเลยปลอมสำเนาใบเสร็จรับเงินและยักยอกเงินไป ๑๙๓๖ ครั้ง เป็นสำเนาใบเสร็จรับเงิน ๑๙๓๖ ฉบับ นอกจากนี้ในเวลาต่อเนื่องกับการกระทำดังกล่าวจำเลยได้ปลอมบัญชีรับเงินรายวันของห้างผู้เสียหายด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนเงินลงในช่องจำนวนเงินของสมุดบัญชีรับเงินรายวันของผู้เสียหายรวม๒๖๘๔ ครั้ง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑, ๒๖๔, ๒๖๕, ๓๕๒,๓๕๓ และให้คืนหรือใช้เงินที่ยังขาด
ห้างฯ ผู้เสียหายได้เข้าร่วมเป็นโจทก์
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๕, ๓๕๓ ให้ลงโทษจำคุกตามมาตรา ๒๖๕ บทหนักกระทงละ ๖ เดือน๕๔๑ กระทง ลดโทษกึ่งหนึ่งแล้วจำคุก ๑๓๕ ปี ๓ เดือน ให้คืนเงินที่ขาด ๑,๑๘๖,๘๗๕บาทแก่ผู้เสียหาย
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยกระทำความผิด ๒,๖๔๘ กระทง(ที่ถูก ๒,๖๘๔ กระทง) ลดโทษกึ่งหนึ่งแล้วจำคุก ๖๖๒ ปี
จำเลยฎีกา ระหว่างฎีกาโจทก์ร่วมขอถอนคำร้องทุกข์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เฉพาะข้อหาความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓ เท่านั้นที่เป็นความผิดอันยอมความกันได้ เมื่อโจทก์ร่วมได้ขอถอนคำร้องทุกข์โดยถูกต้องตามกฎหมายแล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙(๒) และไม่มีสิทธิขอให้ศาลบังคับจำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังขาดอยู่แก่โจทก์ร่วม ส่วนข้อหาความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ หรือ ๒๖๕ ไม่ใช่ความผิดอันยอมความกันได้ สิทธิฟ้องคดีของอัยการโจทก์จึงไม่ระงับ จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำฟ้องดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๖ ว่า เมื่อมีลูกค้าแต่ละรายนำเงินมาชำระจำเลยก็สำเนาใบเสร็จรับเงินให้มีจำนวนเงินน้อยกว่าเงินที่รับเงินแล้วยักยอกเงินส่วนที่เกินไว้ จำเลยรวบรวมเงินเท่าที่ปรากฏในสำเนาใบเสร็จรับเงินของแต่ละวันส่งต่อหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ร่วม จำเลยปลอมสำเนาใบเสร็จรับเงินและยักยอกเงินรวม ๒,๖๘๔ ครั้งในเวลา ๕๔๑ วันศาลฎีกาเห็นว่า การปลอมสำเนาใบเสร็จรับเงินฉบับหนึ่ง แล้วยักยอกเงินจำนวนที่เกินกว่าสำเนาใบเสร็จนั้นไว้ครั้งหนึ่ง ย่อมเป็นความผิดสำเร็จกรรมหนึ่งตั้งแต่เวลายักยอกเงินจำนวนนั้นแล้ว การที่จำเลยรวบรวมเงินแต่ละวันส่งหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นเพียงการปฏิบัติตามหน้าที่ของจำเลย หาใช่เป็นการยักยอกเงินในตอนนั้นไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยยักยอกเงินตามสำเนาใบเสร็จแต่ละฉบับ ก็ถือว่าจำเลยกระทำความผิดกรรมหนึ่งโดยให้แยกกรรมเป็นราย ๆ ไป จึงถูกต้องแล้ว ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า สำเนาใบเสร็จรับเงินเป็นเพียงหลักฐานแสดงว่าได้มีการออกต้นฉบับใบเสร็จรับเงินมีข้อความตรงกับสำเนาใบเสร็จเท่านั้น ไม่ใช่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิระหว่างโจทก์ร่วมกับลูกค้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑(๙)แต่อย่างใด จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ หาใช่มาตรา ๒๖๕ ไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ รวม ๒,๖๔๘ กรรม ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกจำเลยกระทงละ ๔ เดือน ลดรับสารภาพกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยกระทงละ ๒ เดือน ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไว้มีกำหนด ๓ ปี คำขอที่ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ยังขาดอยู่แก่เจ้าทรัพย์ให้ยก