แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การแผ้วถางหรือยึดถือหรือครอบครองป่าอันจะเข้าข้อยกเว้นความผิด ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 วรรคแรกจะต้องเป็นกรณีที่กระทำภายในเขตที่ได้จำแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรมและรัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือโดย ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น ที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าจำแนกซึ่งทางราชการกันไว้สำหรับจัดเป็นที่ทำกินสำหรับประชาชนในภายหน้า แต่ปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว จึงเป็นป่าจำแนกซึ่งยังมิได้จำแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจำเลยมิได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เข้าแผ้วถางหรือยึดถือหรือครอบครองป่าที่เกิดเหตุ จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54,72 ตรี วรรคแรก
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยนี้กับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันแผ้วถาง ก่น สร้าง ทำลายป่าและเข้าไปยึดถือครอบครองป่าซึ่งอยู่ติดกับป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าสัน ทราย” บริเวณระหว่างหลักเขตป่าสงวนแห่งชาติ 168-171 และ 182-183 หมู่ที่ 2ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจำนวนเนื้อที่15 ไร่เศษ แปลงหนึ่ง และจำนวนเนื้อที่ 4 ไร่เศษ อีกแปลงหนึ่งโดย จำเลยกับพวกได้เข้าไปใช้รถแทรกเตอร์ไถ โค่น ล้มต้นไม้ ในบริเวณพื้นที่ป่าดังกล่าว ทั้งนี้โดย จำเลยกับพวกมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่ได้รับยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 54, 55, 72 ตรีพระราชบัญญัติ ป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 22พระราชบัญญัติ ป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 7ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และขอให้นับโทษจำเลยต่อเนื่องกันและให้จำเลยพร้อมบริวารจำเลยออกจากป่าที่ยึดถือครอบครองด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2482 (ที่ถูกคือพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484) มาตรา 4,54, 72 ตรี พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 22พระราชบัญญัติ ป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 7 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 6 เดือนรวมจำคุก 12 เดือน ให้จำเลยและบริวารออกจากป่าที่ยึดถือครอบครองด้วย จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนจำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าจำแนกอยู่ระหว่างหลักเขตป่าสงวนแห่งชาติหลักเขตที่ 168-171 และหลักเขตที่ 182-283 ตามสำเนาแผนที่ท้ายสำเนาหนังสือเรื่องชี้แจงความหมายของคำว่า “ป่าจำแนก” ของสำนักงานป่าไม้เขตเชียงใหม่ เอกสารหมาย จ.2 ประมาณปลายเดือนมกราคม 2532มีคนร้ายใช้รถแทรกเตอร์ขุดไถที่ดินที่เกิดเหตุจำนวน 15 ไร่และ 4 ไร่เศษ ตามลำดับ…
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าป่าที่เกิดเหตุเป็นป่าหมดสภาพไม่ใช่ป่าสงวนทางราชการได้จัดเป็นพื้นที่ให้ประชาชนทำกินตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 54 นั้น เห็นว่า การแผ้วถางหรือยึดถือหรือครอบครองป่าอันจะเข้าข้อยกเว้นความผิด ตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 54 วรรคแรก จะต้องเป็นกรณีที่กระทำภายในเขตที่ได้จำแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรม และรัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือโดย ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น ได้ความจากคำเบิกความของนายบุญส่ง เวียงแก้ว ป่าไม้อำเภอสันทรายว่า บริเวณที่เกิดเหตุทั้งสองแปลงอยู่ในเขตป่าจำแนกนอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าสัน ทราย” ตามสำเนาแผนที่แสดงเขตป่าจำแนกเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 6 บริเวณดังกล่าว ทางราชการกันไว้สำหรับจัดเป็นที่ทำกินสำหรับประชาชนในภายหน้า แต่ปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ผู้ใดจะเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวไม่ได้ ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งทั้งอุทธรณ์และฎีกาของจำเลยก็อ้างแต่เพียงว่าป่าดังกล่าวทางราชการได้มีการจัดส่วนพื้นที่ไว้ให้ประชาชนเข้าทำกินแล้ว แต่ทางการยังมิได้จัดราษฎรเข้าทำกินเท่านั้นโดย ไม่มีหลักฐานใด ๆ สนับสนุน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่เกิดเหตุทั้งสองแปลงเป็นป่าจำแนกซึ่งยังมิได้จำแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจำเลยมิได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เข้าแผ้วถางหรือครอบครองป่าที่เกิดเหตุทั้งสองแปลงจำเลยจึงต้องมีความผิดตามฟ้อง ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 72 ตรี โดย มิได้ระบุไว้ว่าเป็นความผิดวรรคใดนั้นเห็นสมควรระบุให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 72 ตรี วรรคแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์