คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2562/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 ซึ่งจะถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 แล้วหรือไม่นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้โดยแจ้งชัด ก็ไม่มีสิทธิยกขึ้นต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์
ในขณะที่จำเลยที่ 1 นำที่พิพาทไปขายฝากแก่โจทก์ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม มาตรา1468 และ 1473 ยังคงใช้บังคับอยู่ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเป็นผู้จัดการที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินบริคณห์ และมีอำนาจจำหน่ายสินบริคณห์ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวนั้นได้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ผู้เป็นภริยา

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 300 บาท และต่อไปอีกเดือนละ 100 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้จดทะเบียนสมรสเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ถึงแม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้ในข้อนี้ไว้ ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 2 มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาให้ศาลวินิจฉัยได้ และเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 แล้ว ที่พิพาทจึงไม่ใช่สินบริคณห์ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำเอาที่พิพาทส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 2 ครึ่งหนึ่งไปทำนิติกรรมขายฝากให้แก่โจทก์โดยที่จำเลยที่ 2 ไม่ให้ความยินยอม

ศาลฎีกาพิเคราะห์ฎีกาจำเลยที่ 2 ดังกล่าวแล้ว เห็นว่าปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 ซึ่งจะถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 แล้วหรือไม่นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้โดยแจ้งชัด จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้นต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ ไม่รับวินิจฉัยจึงชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ที่พิพาทไม่ได้เป็นสินบริคณห์ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำเอาที่พิพาทส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 2 ครึ่งหนึ่งไปทำนิติกรรมขายฝากให้แก่โจทก์โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้ความยินยอมก่อน โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่พิพาทส่วนของจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ที่พิพาทมาระหว่างเป็นสามีภริยากัน ที่พิพาทจึงเป็นสินสมรสและตกเป็นสินบริคณห์ของจำเลยทั้งสอง ในขณะที่จำเลยที่ 1 นำเอาที่พิพาทไปทำนิติกรรมขายฝากให้แก่โจทก์ในปี พ.ศ. 2516 นั้น ปรากฏว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว มาตรา 1468และมาตรา 1473 ยังคงใช้บังคับอยู่ จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิเป็นผู้จัดการที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินบริคณห์และมีอำนาจจำหน่ายสินบริคณห์ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวนั้นได้โดยจำเลยที่ 1 ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ผู้เป็นภริยาด้วยเหตุนี้ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสิทธิของโจทก์ตามสัญญาขายฝากทั้งแปลงและโจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 ออกไปจากที่ดินพิพาทตามฟ้องได้”

พิพากษายืน

Share