คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6538/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อรับรองรายงานการประชุม และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้บันทึกการประชุมในเอกสารฉบับเดียวกัน ย่อมเป็นการรับรองเป็นหลักฐานว่า การประชุมคณะกรรมการกำหนดโครงสร้างส่วนราชการและจัดทำแผนอัตรากำลัง 3 ปี (รอบปีงบประมาณ 2558 – 2560) เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 ได้กระทำต่อหน้าตนนั้น เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวมิได้มีการประชุมกันจริง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับรองเป็นหลักฐานว่า การอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ และรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ ตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) แต่โจทก์ทั้งห้ามิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) มาด้วย ต้องถือว่าโจทก์ทั้งห้าไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) จึงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) ไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ และกรณีมิใช่เป็นเรื่องที่ข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ทั้งห้าสืบสม แต่อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด เพราะโจทก์ทั้งห้ามิได้บรรยายองค์ประกอบความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) มาในฟ้องด้วย อีกทั้งองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) กับมาตรา 265 มีความแตกต่างกันมาก จึงมิใช่เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในเรื่องที่มิใช่ข้อสาระสำคัญ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้หลงต่อสู้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 157, 264, 265, 268
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 83 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ร่วมกันปลอมเอกสารราชการและร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอม จึงลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 แต่เพียงกระทงเดียว ตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติคนละ 4 ครั้ง ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ยก และยกฟ้องโจทก์ทั้งห้าสำหรับจำเลยที่ 3
โจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งห้าสำหรับความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งห้าฎีกา โดยผู้พิพากษาที่พิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าข้อแรกมีว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้บันทึกการประชุมและจัดทำรายงานการประชุม แต่จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการกำหนดโครงสร้างส่วนราชการและจัดทำแผนอัตรากำลัง 3 ปี (รอบปีงบประมาณ 2558 – 2560) ของเทศบาลตำบลประตูป่า มีหน้าที่บันทึกการประชุมและจัดทำรายงานการประชุมของคณะกรรมการดังกล่าวตามหน้าที่ รายงานการประชุมจึงเป็นเอกสารแท้จริงที่จำเลยที่ 2 จัดทำขึ้น มิใช่เอกสารปลอม และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะกรรมการกำหนดโครงสร้างส่วนราชการและจัดทำแผนอัตรากำลัง 3 ปี (รอบปีงบประมาณ 2558 – 2560) ของเทศบาลตำบลประตูป่า ไม่ได้มีการประชุมกันเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 ดังได้วินิจฉัยมา ย่อมทำให้เชื่อได้ว่า คณะกรรมการดังกล่าวมิได้มีการแสดงความคิดเห็นกันตามที่ปรากฏในรายงานการประชุม และแผนอัตรากำลังมิได้เป็นผลมาจากการประชุมของคณะกรรมการกำหนดโครงสร้างส่วนราชการและจัดทำแผนอัตรากำลัง 3 ปี (รอบปีงบประมาณ 2558 – 2560) ของเทศบาลตำบลประตูป่าแต่ประการใด การจัดทำแผนอัตรากำลังและรายงานการประชุมจึงมิได้เป็นไปตามหนังสือสำนักงาน ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต. ที่ มท 0809.2/ว 55 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2557 เรื่อง กำหนดขั้นตอนในการจัดทำแผนอัตรากำลัง 3 ปี ที่ว่า จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทำแผนอัตรากำลัง 3 ปี และไม่เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลลำพูน เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของเทศบาล ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2545 ข้อ 16 ที่ให้คณะกรรมการจัดแผนอัตรากำลัง 3 ปี ของเทศบาล มีหน้าที่จัดทำแผนอัตรากำลัง 3 ปี โดยคำนึงถึงภารกิจและอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายดังที่โจทก์ทั้งห้ากล่าวในคำฟ้องก็ตาม แต่เมื่อรายงานการประชุมเป็นเพียงเอกสารเท็จ มิใช่เอกสารราชการปลอม การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 มิได้รู้เห็นด้วย ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 จะกล้าจัดทำรายงานการประชุมขึ้นเอง แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ และเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมด้วย
ส่วนที่โจทก์ทั้งห้าฎีกาว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมด้วยนั้น ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ทั้งห้าปรากฏเพียงว่า จำเลยที่ 3 ไปให้ถ้อยคำต่อคณะทำงานของคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดลำพูนว่า มีการประชุมคณะกรรมการกำหนดโครงสร้างส่วนราชการและจัดทำแผนอัตรากำลัง 3 ปี (รอบปีงบประมาณ 2558 – 2560) เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 กันจริงเท่านั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 เพียงเท่านี้ย่อมไม่เพียงพอให้รับฟังว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อรับรองรายงานการประชุมในรายงานการประชุม และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้บันทึกการประชุมในเอกสารฉบับเดียวกัน ย่อมเป็นการรับรองเป็นหลักฐานว่า การประชุมคณะกรรมการกำหนดโครงสร้างส่วนราชการและจัดทำแผนอัตรากำลัง 3 ปี (รอบปีงบประมาณ 2558 – 2560) เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 ได้กระทำต่อหน้าตนนั้น เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวมิได้มีการประชุมกันจริง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับรองเป็นหลักฐานว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ และรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) และ (4) แต่โจทก์ทั้งห้ามิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) และ (4) มาด้วย ต้องถือว่าโจทก์ทั้งห้าไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) และ (4) จึงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) และ (4) ไม่ได้ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ และกรณีมิใช่เป็นเรื่องที่ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์ทั้งห้าสืบสม แต่อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดดังที่โจทก์ทั้งห้าฎีกา เพราะโจทก์มิได้บรรยายองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) และ (4) มาในคำฟ้องด้วย อีกทั้งองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) และ (4) กับมาตรา 265 มีความแตกต่างกันมาก จึงมิใช่เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในเรื่องที่มิใช่ในข้อสาระสำคัญและจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้หลงต่อสู้ ดังที่โจทก์ทั้งห้าฎีกามาด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งห้าในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าข้อต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยทั้งสาม เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือไม่ เห็นว่า แม้แผนอัตรากำลัง 3 ปี (รอบปีงบประมาณ 2558 – 2560) ของเทศบาลตำบลประตูป่า และรายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดโครงสร้างส่วนราชการและจัดทำแผนอัตรากำลัง 3 ปี (รอบปีงบประมาณ 2558 – 2560) จัดทำขึ้นโดยที่คณะกรรมการดังกล่าวมิได้มีการประชุมกันจริง แต่การปรับลดอัตรากำลังพนักงานจ้างตามภารกิจ 7 ตำแหน่ง รวมถึงตำแหน่งของโจทก์ทั้งห้าเป็นการดำเนินการตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ที่บัญญัติว่า ในการจ่ายเงินเดือน ประโยชน์ตอบแทนอื่น และเงินค่าจ้างของข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นและลูกจ้างที่นำมาจากเงินรายได้ที่ไม่รวมเงินอุดหนุนและเงินกู้หรือเงินอื่นใดนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งจะกำหนดสูงกว่าร้อยละสี่สิบของเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่ได้ และข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนเสนอแผนอัตรากำลัง 3 ปี (รอบปีงบประมาณ 2558 – 2560) ของเทศบาลตำบลประตูป่า เทศบาลตำบลประตูป่ามีภาระค่าใช้จ่ายด้านการบริหารงานบุคคล คิดเป็นร้อยละ 46.57 การปรับลดกรอบอัตรากำลังบุคลากรของเทศบาลตำบลประตูป่าจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อีกทั้งแผนอัตรากำลัง 3 ปี (รอบปีงบประมาณ 2558 – 2560) ของเทศบาลตำบลประตูป่า ที่จัดทำขึ้นตามมติของคณะกรรมการเทศบาลจังหวัดลำพูนที่ให้เทศบาลตำบลประตูป่าจัดทำขึ้นใหม่ ซึ่งคณะกรรมการเทศบาลจังหวัดลำพูนมีมติเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 11/2559 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 ก็มีสาระสำคัญตรงกับที่ปรากฏในแผนอัตรากำลังและรายงานการประชุม กล่าวคือ ให้ยุบเลิกตำแหน่งที่ไม่มีคนครอง และปรับลดพนักงานจ้างตามภารกิจ 7 ตำแหน่ง รวมถึงตำแหน่งของโจทก์ทั้งห้าเช่นเดิม เพียงแต่ปรับลดพนักงานจ้างทั่วไป 14 ราย จากเดิมให้ปรับลด 15 ราย เท่านั้น แสดงให้เห็นว่า การปรับลดอัตรากำลังพนักงานจ้างตามภารกิจ 7 ตำแหน่ง รวมถึงตำแหน่งของโจทก์ทั้งห้าเป็นการดำเนินการโดยมีเหตุผลอันสมควร ประกอบกับทางนำสืบของโจทก์ทั้งห้าไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจัดทำแผนอัตรากำลังและรายงานการประชุม โดยมีเจตนาพิเศษมุ่งหมายที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งห้า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ส่วนที่โจทก์ทั้งห้าฎีกาว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดนั้น ฎีกาของโจทก์ทั้งห้าไม่ได้ให้เหตุผลว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดอย่างไร ฎีกาของโจทก์ทั้งห้าข้อนี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดฐานนี้ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งห้าในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share