คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2561/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์นำหญิงอื่นมาอยู่ในบ้านและมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยามีบุตรด้วยกัน 1 คนโดยโจทก์ให้ใช้นามสกุลโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาจำเลยจึงฟ้องหย่าโจทก์ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(1) เดือนพฤษภาคม 2520 โจทก์จำเลยทะเลาะทุบตีกัน จำเลยไล่โจทก์ออกจากบ้าน แต่หลังจากนั้นโจทก์ยังไปมาหาสู่จำเลยและเคยรับจำเลยไปรับประทานอาหารด้วยกัน ประมาณปี 2523 โจทก์ไปรับจำเลยมาอยู่ด้วย 3-4 เดือน จำเลยถูกบิดาโจทก์ไล่ออกจากบ้าน จึงกลับไปอยู่บ้านเดิม แต่โจทก์ยังไปมาหาสู่จำเลยโดยให้เงินใช้เดือนละ 4,000บาท ในปี 2527 จำเลยบวชชีโจทก์ทราบก็พูดว่าบวชก็ดีและไปเยี่ยมจำเลยกับส่งเงินให้จำเลยเดือนละ 4,000 บาท เพิ่งจะงดส่งเงินนับแต่เดือนมกราคม 2529 เป็นต้นมา ดังนี้ แม้โจทก์จะมีเหตุหย่าจำเลยตามกฎหมายก็ตาม แต่พฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏถือได้ว่าโจทก์ให้อภัยในการกระทำของจำเลยแล้ว สิทธิฟ้องหย่าของโจทก์ย่อมหมดไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1518 เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ฝ่ายเดียวที่อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา จำเลยไม่ประกอบอาชีพอะไรโจทก์เคยให้จำเลยเป็นค่าใช้จ่ายเดือนละ 4,000 บาท ฉะนั้นการที่โจทก์จำเลยหย่ากันย่อมทำให้จำเลยยากจนลง จำเลยจึงมีสิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1526

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกและจำเลยให้สำนวนหลังว่า โจทก์ และให้เรียกจำเลยสำนวนแรกและโจทก์ในสำนวนหลังว่า จำเลย
โจทก์สำนวนแรกฟ้องว่า จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่า 1 ปีโดยไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูบุตร และทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยากันอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้โจทก์และบุตรได้รับความเดือดร้อนและอับอายเป็นอันมาก โจทก์ไม่อาจอยู่กินกับจำเลยฉันสามีภรรยากันได้ต่อไป ขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน
จำเลยให้การว่า โจทก์และบิดาโจทก์ขับไล่จำเลยออกจากบ้านและคัดชื่อจำเลยออกจากทะเบียนบ้าน จำเลยจึงไปบวชชีเพื่อรักษาจิตใจโดยได้รับความยินยอมจากโจทก์ และโจทก์จ่ายค่าใช้จ่ายให้แก่จำเลยเดือนละ 4,000 บาท จำเลยจะสึกเมื่อใดก็ได้ การกระทำของจำเลยหาใช่เป็นการทิ้งร้างโจทก์ไม่ ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์สำนวนหลังฟ้องว่า จำเลยหาเรื่องทะเลาะทุบตีโจทก์ไล่โจทก์ออกจากบ้านและถอนชื่อออกจากทะเบียนบ้าน ต่อมาจำเลยนำหญิงอื่นเข้ามาอยู่ในบ้านและยกย่องเลี้ยงดูฉันสามีภรรยา การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนไม่มีปัจจัยไว้ใช้ยามจำเป็นขอให้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน ให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 21961 และ 21962 อันเป็นสินสมรสให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง กับให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์เดือนละ 4,000 บาทนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาให้หย่าขาดจากกันไปจนตลอดชีวิตของโจทก์
จำเลยให้การว่า เหตุหย่าเกิดจากการกระทำผิดของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ทำให้โจทก์ยากจนลงแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เดือนละ 4,000 บาท ตลอดชีวิตของโจทก์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 21961 และ 21962 จำเลยซื้อมาด้วยเงินที่บิดาจำเลยให้มาโดยเสน่หาจำนวน 82,000 บาท จึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยมิใช่สินสมรส โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่ง ขอให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ให้โจทก์ไปจดทะเบียนหย่ากับจำเลย ณ ที่ว่าการเขตภายในกำหนด 15 วัน และให้โจทก์ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 21961 และ 21962ให้จำเลยครึ่งหนึ่ง ถ้าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ กับให้โจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยเดือนละ4,000 บาท นับแต่วันจดทะเบียนหย่าจนตลอดชีวิตของจำเลยหรือจนกว่าจะมีสามีใหม่ ให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนแรก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นที่จะวินิจฉัยตามฎีกา ข้อแรกของโจทก์ว่า โจทก์มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยตามกฎหมายหรือไม่ ในประเด็นข้อนี้โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่าเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2520 จำเลยไล่โจทก์พร้อมทั้งบุตรสาวให้ออกจากบ้านและโยนเสื้อผ้าและสิ่งของเครื่องใช้ของโจทก์ออกจากบ้านกับใช้คำพูดเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรงทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้า นอกจากนี้เมื่อปี 2527 จำเลยหนีไปบวชชีเกิน 1 ปีโดยโจทก์ไม่ยินยอม จำเลยมีนางสาวทิพาพรบุตรสาวโจทก์จำเลยเป็นพยานเบิกความว่าเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2520 โจทก์จำเลยทะเลาะทุบตีกัน จำเลยไล่โจทก์ออกจากบ้าน พยานและน้องสาวตามโจทก์ไปอยู่บ้านเลขที่ 65 ซอยศึกษาวิทยา แขวงสีลม เขตบางรักกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นบ้านของบิดามารดาโจทก์ หลังจากนั้นโจทก์ก็ยังไปมาหาสู่จำเลยและเคยรับจำเลยไปรับประทานข้าวด้วยกันเมื่อประมาณปี 2523 โจทก์ไปรับจำเลยมาอยู่ด้วย จำเลยไม่ได้ประกอบอาชีพอะไรเป็นเพียงแม่บ้านดูแลบุตร หลังจากจำเลยมาอยู่ได้ประมาณ 3-4 เดือน จำเลยก็ถูกบิดาโจทก์ไล่ออกจากบ้าน จำเลยก็กลับไปอยู่บ้านเดิมซึ่งเป็นบ้านบิดามารดาจำเลย โจทก์ก็ยังไปมาหาสู่จำเลยโดยให้เงินจำเลยใช้เดือนละ 4,000 บาท พยานและน้องสาวผลัดกันนำเงินไปให้จำเลย จำเลยบวชชีเมื่อประมาณปี 2527 ก่อนที่จะบวชชีจำเลยมาปรึกษาพยานและน้องสาว ทุกคนเห็นชอบด้วย ส่วนโจทก์เมื่อทราบก็พูดว่าบวชก็ดีและโจทก์ยังคงไปเยี่ยมจำเลยกับส่งเงินให้แก่จำเลยเดือนละ 4,000 บาท โจทก์งดส่งเงินให้จำเลยนับแต่เดือนมกราคม 2529 เป็นต้นมาเห็นว่า พยานปากนี้เป็นบุตรของโจทก์จำเลย หลังจากโจทก์จำเลยทะเลาะกันและแยกกันอยู่พยานปากนี้ก็ไปอยู่กับโจทก์ จึงไม่มีเหตุให้ระแวงว่าพยานปากนี้จะเบิกความเข้าข้างจำเลย คำเบิกความของพยานปากนี้จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ดังนั้นแม้จะฟังได้ว่าข้อกล่าวหาของโจทก์ทั้งสองกรณีเป็นเหตุหย่าตามกฎหมายก็ตามแต่พฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ได้จากคำเบิกความของพยานปากนี้ดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์ได้ให้อภัยในการกระทำของจำเลยแล้ว สิทธิฟ้องหย่าของโจทก์ย่อมหมดไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1518
ประเด็นต่อไปมีว่า จำเลยมีเหตุฟ้องหย่าโจทก์หรือไม่ ในข้อนี้ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นที่คู่ความนำสืบตรงกันฟังได้ว่า เมื่อเดือนมกราคม 2529 โจทก์นำนางสาวลัดดา มาอยู่ในบ้านโจทก์และอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา มีบุตรหญิงด้วยกัน 1 คน ชื่อเด็กหญิงสิทธิดาโดยโจทก์ให้ใช้นามสกุลของโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภรรยา และคดีก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการอันแสดงว่าได้ให้อภัยในการกระทำของโจทก์ จำเลยจึงมีเหตุฟ้องหย่าโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1)…
ประเด็นข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์หรือไม่ในข้อนี้ศาลได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ฝ่ายเดียวเนื่องจากโจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องหญิงอื่นฉันสามีภรรยา และได้ความจากนางสาวทิพาพรพยานจำเลยว่าจำเลยไม่ประกอบอาชีพอะไร คงเป็นแม่บ้านเพียงอย่างเดียวโจทก์เคยให้เงินจำเลยเป็นค่าใช้จ่ายเดือนละ 4,000 บาท ฉะนั้นการที่โจทก์จำเลยหย่ากันย่อมทำให้จำเลยยากจนลงแน่นอน จำเลยจึงมีสิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1526 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share