แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การขอพิสูจน์ว่าตนมีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองนั้น ผู้ขอจะต้องเป็นคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย แต่ถูกพนักงานเจ้าหน้าที่โต้แย้งเกี่ยวกับการเข้ามาในราชอาณาจักรว่าเป็นคนต่างด้าวจึงจะร้องขอพิสูจน์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ และเมื่อไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีสิทธิร้องขอต่อศาลให้พิจารณา โดยยื่นคำร้องต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทได้
ผู้ร้องเป็นชายสัญชาติไทยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงสัญชาติญวนรับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว มีบุตรเกิดด้วยกัน ทางจังหวัดสั่งถอนสัญชาติไทยของบุตร ผู้ร้องจะใช้สิทธิทางศาลตาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 57 ขอพิสูจน์สัญชาติของบุตรไม่ได้ เมื่อเป็นการโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับสัญชาติของบุตรผู้เยาว์ ก็ชอบที่จะฟ้องผู้โต้แย้งสิทธิเป็นคดีมีข้อพิพาทต่อศาลได้ ปัญหานี้แม้ผู้คัดค้านมิได้ยกขึ้นโต้แย้งแต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่าเด็กชายมนต์ชัยและเด็กหญิงมัลลิกาเกิดในราชอาณาจักรไทย จากนางนิ่มนวลมารดาซึ่งเป็นบุคคลสัญชาติญวน ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวขณะเกิดผู้ร้องกับนางนิ่มนวลเป็นสามีภริยากันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมีคำสั่งจังหวัดนครพนมที่ 1052/2522 ถอนสัญชาติไทยของเด็กชายมนต์ชัยและเด็กหญิงมัลลิกาโดยอ้างว่าอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ตามเอกสารหมาย ค.1 ไปก่อนแล้ว ต่อมาผู้ร้องกับนางนิ่มนวลจึงจดทะเบียนสมรสกันปัญหาว่าผู้ร้องจะร้องขอพิสูจน์สัญชาติของเด็กชายมนต์ชัย และ เด็กหญิงมัลลิกาบุตรผู้เยาว์ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองได้หรือไม่ เกี่ยวกับการนี้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 57 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้ใดอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ฯลฯ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าว จนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติไทย
การพิสูจน์ตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หากผู้นั้นไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่จะร้องขอต่อศาลให้พิจารณาก็ได้ ฯลฯ” แบบคำขอพิสูจน์สัญชาติ (ตม.10) ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับที่ 4 พ.ศ. 2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ข้อ 5 ก็มีรายการเกี่ยวกับยานพาหนะ วันเดือนปีของผู้เข้ามาในประเทศต้องระบุไว้ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 “คนเข้าเมือง” หมายความว่า คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร แสดงให้เห็นว่า การขอพิสูจน์ว่าตนมีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองนั้น ผู้ขอจะต้องเป็นคนที่เข้ามาในประเทศไทยโดยอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย แต่ถูกพนักงานเจ้าหน้าที่โต้แย้งเกี่ยวกับการเข้ามาในราชอาณาจักรว่าเป็นคนต่างด้าว จึงจะร้องขอพิสูจน์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ และเมื่อไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีสิทธิร้องขอต่อศาลให้พิจารณาโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทได้ แต่กรณีนี้ได้ความว่าเด็กชายมนต์ชัยและเด็กหญิงมัลลิกาบุตรผู้ร้องเกิดในราชอาณาจักรไทย มีคำสั่งจังหวัดนครพนมให้ถอนสัญชาติไทยเพราะมารดาเป็นคนต่างด้าวผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายในขณะเกิด หาใช่เป็นผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย แล้วมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการเข้าเมืองโดยอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทยไม่ ดังนั้นผู้ร้องจะใช้สิทธิทางศาลโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 57 ร้องขอพิสูจน์สัญชาติของเด็กชายมนต์ชัยและเด็กหญิงมัลลิกาเช่นคดีนี้ไม่ได้ถ้าผู้ร้องเห็นว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองถูกนายทะเบียนท้องถิ่นขีดฆ่าสัญชาติไทยในทะเบียนหรือถูกถอนสัญชาติไทยโดยมิชอบประการใด อันเป็นการโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับสัญชาติของผู้เยาว์ ก็ชอบที่จะฟ้องผู้ที่โต้แย้งสิทธิเป็นคดีมีข้อพิพาทต่อศาลได้ ปัญหานี้แม้ว่าผู้คัดค้านจะมิได้ยกขึ้นโต้แย้ง แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องประการอื่นต่อไป ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกคำร้องของผู้ร้องเสีย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ