คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2556/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้สัญญาเช่าซื้อระบุชัดแจ้งว่า ผู้เช่าซื้อจะต้อง ชำระเงินตาม ที่กำหนดไว้ในรายการ แต่ ปรากฏว่าเมื่อจำเลยผู้เช่าซื้อได้ชำระค่าเช่าซื้อเกินกำหนดเวลาทุกงวด โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อ ก็ยอมรับโดย มิได้ทักท้วงและออกใบเสร็จรับเงินระบุเป็นการ ชำระ ค่าเช่าซื้องวดที่ค้างชำระ จึงถือ ได้ ว่าคู่สัญญามิได้ ถือ เอากำหนดเวลาชำระเป็นสำคัญแต่ ถือ เอา การชำระตาม งวดเป็น ข้อสำคัญ แต่ จำเลยมิได้ชำระค่างวด 5 งวดติดต่อ กัน จึงเป็น การ ค้าง ชำระติดต่อ กันเกิน 2 งวดแล้ว อันเป็นการผิดสัญญาใน ข้อสำคัญ โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2525 จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์กระบะดีเซลหมายเลขทะเบียน 4ย-1107 ของโจทก์ในราคา 188,180 บาท (ที่ถูก 178,180 บาท) กำหนดชำระค่าเช่าซื้อเดือนละ 4,950 บาท เป็นเวลา 36 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 15กันยายน 2525 หากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามงวดที่กำหนด ยอมชำระเบี้ยปรับเป็นค่าเสียหายและหากจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติดต่อกัน ยอมให้โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ทันที และส่งมอบรถยนต์คันเช่าซื้อคืนโจทก์ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยเอง โดยมีจำเลยที่ 2เข้าทำสัญญาค้ำประกัน ยอมชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนจำเลยที่ 1 ได้ผิดนัดค้างชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดเดือนธันวาคม2526 ถึงเดือนเมษายน 2527 รวม 5 งวด ต้องเสียเบี้ยปรับร้อยละ 21ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวตามสัญญา นับแต่วันที่ 15 เมษายน 2527 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,107.48 บาท โจทก์ได้ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ต่อมาวันที่ 25 เมษายน 2527 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาและยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ 26,857.48 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์ตามฟ้องจริง เคยค้างค่าเช่าซื้อ แต่ก็ได้ชำระแล้วไม่เคยค้างสองงวดติดต่อกันตั้งแต่งวดเดือนธันวาคม 2526 ถึงงวดเดือนเมษายน 2527 ก็ได้ชำระแล้ว การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อในวันที่ 25 เมษายน 2527 และยึดรถคืนไปทันทีโดยจำเลยที่ 1ไม่ได้ผิดสัญญาเช่าซื้อเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้จำเลยที่ 1เสียหายไม่มีรถใช้ในการประกอบอาชีพส่งสินค้า ซึ่งมีรายได้สุทธิวันละ 300 บาท นับแต่วันที่โจทก์ยึดรถคืนจนถึงวันฟ้องแย้งรวมเป็นค่าเสียหาย 60,600 บาท จำเลยที่ 1 ต้องการเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวต่อไป จึงฟ้องแย้งขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายให้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 60,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งไปจนกว่าจะชำระค่าเสียหายให้จำเลยเสร็จ ให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์คันเช่าซื้อให้จำเลยที่ 1เช่าซื้อต่อไป หากส่งมอบรถยนต์ไม่ได้ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายให้จำเลยที่ 1 วันละ 300 บาท จนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ให้จำเลยที่ 1
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดเดือนธันวาคม 2526 จนถึงเดือนเมษายน 2527 รวม 5 งวดติดต่อกัน โจทก์ทวงถามหลายครั้งหลายหน จำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์จึงได้บอกเลิกสัญญาและยึดรถคืนมาโดยสุจริตตามสัญญา โจทก์ไม่ต้องรับผิดในความเสียหาย และหากจำเลยที่ 1 จะเสียหายจริงก็ไม่เกินวันละ 50 บาท โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้วจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจเช่าซื้อรถตามสัญญาได้อีกขอให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระค่าเสียหายให้จำเลยที่ 1 จำนวน 108,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย 83,250บาท แก่จำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาข้อกฎหมายจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าเช่าซื้อทุกเดือนโดยเว้นเดือนบ้างไม่ตรงกับวันในสัญญา แต่ไม่เกินสองเดือนติดกัน งวดที่จะต้องชำระ 20 งวด แต่จำเลยที่ 1 ชำระเพียง 15 งวดคงค้าง 5 งวดติดต่อกันจะถือว่าผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อติดต่อกันสองงวดหรือไม่ และเป็นการผิดสัญญาข้อสำคัญที่โจทก์บอกเลิกสัญญาได้หรือไม่ เห็นว่า สัญญาข้อ 2 ระบุชัดแจ้งว่า ผู้เช่าซื้อจะต้องชำระเงินตามที่กำหนดไว้ในรายการโดยเคร่งครัด แต่ยังผ่อนผันให้ค้างชำระได้ไม่เกินสองงวดติดต่อกัน จำเลยที่ 1 ชำระเกินกำหนดเวลาทุกงวด ซึ่งโจทก์ยอมรับโดยมิได้ทักท้วง ใบเสร็จรับเงินก็ระบุว่าชำระค่างวดประจำเดือนใดมิได้ถือเอาเดือนที่ชำระเป็นค่างวดของเดือนนั้น แต่เป็นการชำระงวดที่ค้าง ถือได้ว่าคู่สัญญามิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระเป็นข้อสำคัญ แต่ถือเอาการชำระตามงวดเป็นข้อสำคัญ เมื่อเดือนเมษายน 2527 จำเลยที่ 1 จะต้องชำระ 20 งวด แต่จำเลยที่ 1ชำระได้เพียง 15 งวด ถึงเดือนพฤศจิกายน 2526 เท่านั้น จึงขาดไป 5งวดติดต่อกัน ถือว่าค้างชำระติดต่อกันเกินสองงวดแล้ว ทั้งเป็นการผิดสัญญาในข้อสำคัญด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องแย้ง ส่วนโจทก์มีสิทธิเลิกสัญญาและยึดรถคืนได้ นอกจากนั้นโจทก์ยังมีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ 5 งวด กับเบี้ยปรับได้ตามสัญญา จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดด้วย ที่โจทก์ขอให้ชำระเบี้ยปรับเป็นดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปีนั้นเห็นว่าสูงเกินไปสมควรลดลงเหลือร้อยละ 15 ต่อปี ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 24,750 บาท ให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 เมษายน 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ.

Share