คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2552/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่14) พ.ศ. 2526ต้องตีความว่า บุตรซึ่งได้มีคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายก่อนวันที่ พ.ร.บ. ฉบับนี้ใช้บังคับ ย่อมมีสิทธิเรียกร้องและฟ้องเรียกบำเหน็จตกทอดในฐานะทายาทผู้มีสิทธิเมื่อ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับแล้ว โดยที่ก่อนที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับหามีสิทธิเช่นนั้นไม่ ดังนั้นเมื่อโจทก์เรียกร้องบำเหน็จตกทอดจากจำเลยและขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่14) พ.ศ. 2526ใช้บังคับ และเด็กชาย ธ. บุตรผู้ตายเป็นทายาทผู้มีสิทธิตามมาตรา 4 แล้ว เด็กชาย ธ. จึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดกรณีนี้หาใช่เป็นกรณีที่กฎหมายมีผลใช้บังคับย้อนหลังไม่.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาเด็กชายธีระพลหรือเก่ง อยู่ทองผู้เยาว์ ซึ่งเกิดจากพันเอกประพนธ์ อยู่ทอง โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส โจทก์ฟ้องในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายธีระพล โจทก์และพันเอกประพนธ์ อยู่กินฉันสามีภริยาโดยเปิดเผยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 มีบุตร 1 คน คือเด็กชายธีระพลซึ่งพันเอกประพนธ์ได้รับรองและแสดงออกแก่บุคคลทั่วไปว่าเป็นบุตร พันเอกประพนธ์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม2526 ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางมีคำสั่งว่า เด็กชายธีระพลเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพันเอกประพนธ์ ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางมีคำสั่งว่าเด็กชายธีระพลเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพันเอกประพนธ์ เด็กชายธีระพลมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตกทอดตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพ.ศ. 2494 ซึ่งแก้ไขแล้วเป็นเงิน 404,653.20 บาท โจทก์ได้ขอรับเงินบำเหน็จตกทอดและเงินบำนาญพิเศษของพันเอกประพนธ์จากจำเลยแล้ว จำเลยปฏิเสธไม่จ่ายเงิน ขอให้บังคับให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดจำนวน 404,653.20 บาท แก่เด็กชายธีระพลหรือเก่ง อยู่ทอง
จำเลยให้การว่า พันเอกประพนธ์มีทายาทที่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่เพียง 1 คนคือนางอังกาบ อยู่ทอง ซึ่งเป็นมารดา คำสั่งของศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางที่สั่งให้เด็กชายธีระพลหรือเก่งอยู่ทอง เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นเวลาภายหลังจากพันเอกประพนธ์ถึงแก่ความตายแล้ว เด็กชายธีระพลจึงไม่ได้มีฐานะเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับบำนาญพิเศษและบำเหน็จตกทอดของพันเอกประพนธ์ และตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(ฉบับที่14) พ.ศ. 2526 ประกาศใช้และมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2526 เป็นต้นไป จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิย้อนหลังไปถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2526 อันเป็นวันที่ศาลสั่งให้เด็กชายธีระพลเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพันเอกประพนธ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดจำนวน404,653.20 บาท แก่โจทก์ ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายธีระพลหรือเก่ง อยู่ทอง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่โจทก์จำเลยรับกันว่า พันเอกประพนธ์ตายเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม2526 ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2526 ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางมีคำสั่งว่าเด็กชายธีระพลหรือเก่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพันเอกประพนธ์ พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่14)พ.ศ. 2526 ประกาศใช้และมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม2526 และถ้าเด็กชายธีระพลเป็นทายาทผู้มีสิทธิ เด็กชายธีระพลมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดเป็นเงิน 404,653.20 บาท ปัญหามีว่าเด็กชายธีระพลเป็นทายาทผู้มีสิทธิตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือไม่
มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่14)พ.ศ. 2526 บัญญัติให้เพิ่มบทนิยามคำว่า ‘ทายาทผู้มีสิทธิ’ให้หมายความว่า
(1) บุตร และให้หมายความรวมถึงบุตรซึ่งได้มีคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งได้มีการฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรก่อนหรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่บิดาตาย หรือนับแต่วันที่ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของบิดา
(2) สามีหรือภริยา
(3) บิดาและมารดา
ดังนั้น เด็กชายธีระพลบุตรผู้ตายซึ่งได้มีคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งได้มีการฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่บิดาตายจึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งนี้เพราะตามบทบัญญัติดังกล่าวบุตรซึ่งได้มีคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายหาได้หมายความว่าจะต้องมีคำพิพากษาของศาลเช่นนั้นตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2526 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไป จึงจะเป็นทายาทผู้มีสิทธิ ส่วนบุตรที่มีคำพิพากษาของศาลเช่นนั้นก่อนวันดังกล่าวมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิดังที่จำเลยฎีกาไม่ศาลฎีกาเห็นว่าสำหรับบุตรซึ่งได้มีคำพิพากษาของศาลเช่นนั้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ย่อมมีสิทธิเรียกร้องและฟ้องเรียกบำเหน็จตกทอดในฐานะทายาทผู้มีสิทธิเมื่อพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้ว โดยที่ก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหามีสิทธิเช่นนั้นไม่ สำหรับคดีนี้ก็เช่นเดียวกัน ขณะโจทก์เรียกร้องบำเหน็จตกทอดจากจำเลยและขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่14) พ.ศ. 2526 ใช้บังคับ และเด็กชายธีระพลเป็นทายาทผู้มีสิทธิแล้วเด็กชายธีระพลจึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด กรณีเช่นนี้หาใช่เป็นกรณีที่กฎหมายมีผลใช้บังคับย้อนหลังไม่ ปัญหาเช่นนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3560/2530 ระหว่าง เด็กชายปริญญา เวชนุสิทธิ์ โดยนางเรวดีเวชนุสิทธิ์หรือแสงพลสิทธิ์ มารดาผู้แทนโดยชอบธรรม โจทก์กระทรวงการคลัง จำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share