คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2552/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรมในรัฐบาลเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎร มีหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ทำงานตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งของสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรฯซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 คำบรรยายฟ้องในตอนแรกนี้จึงเป็นการบรรยายฟ้องให้เห็นฐานะความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 ว่ามีความสัมพันธ์กันตามกฎหมาย แม้ต่อมาโจทก์จะบรรยายฟ้องเกินเลยไปว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้าง จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ก็หาทำให้คำบรรยายฟ้องของโจทก์ตอนแรกเสียไปไม่ ทั้งโจทก์ได้บรรยายมาชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 ออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจตรารักษาความสงบตามคำสั่งของสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรฯ อันเป็นการออกไปปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎหมายเมื่อจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนที่ทางราชการจำเลยที่ 1 จ่ายให้ใช้ในราชการยิงบุตรโจทก์ถึงแก่ความตายขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย อันเป็นการบรรยายฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้บังคับบัญชารับผิดฐานละเมิดร่วมกับจำเลยที่ 2 หาใช่ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะนายจ้างแต่ประการเดียวไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรมในรัฐบาล เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีพลตำรวจเอกสุรพล จุลพราหมณ์ เป็นอธิบดี เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 1 มีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ประชาชน มีหน้าที่สืบสวนติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดอาญามาลงโทษตามกฎหมาย จำเลยที่ 2เป็นลูกจ้างทำงานตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ประจำอยู่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านนาสาร อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในการบังคับบัญชาจำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้งตัวแทนเรียกว่าสารวัตรใหญ่ประจำสถานีตำรวจภูธร อำเภอบ้านนาสาร คือ พันตำรวจตรีบุญชิต สุขะวิศิษฐ์ มีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 2 ทำงานตามหน้าที่และวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 และได้มอบอาวุธปืนยาวให้จำเลยที่ 2ใช้ในการทำงานด้วย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2524 จำเลยที่ 1 โดยพันตำรวจตรีบุญชิต สุขะวิศิษฐ์ สารวัตรใหญ่ตัวแทน ได้สั่งให้จำเลยที่ 2 กับพวกออกตรวจตรารักษาความสงบในท้องที่ตำบลนาสาร อำเภอนาสาร เพื่อตรวจจับผู้กระทำความผิด ขณะที่จำเลยที่ 2 ออกตรวจนั้น นายถนอม ศรีสุข ได้มาแจ้งขอให้ช่วยติดตามคนร้ายปล้นทรัพย์ซึ่งกำลังหลบหนีไปทางอำเภอเวียงสระ จำเลยที่ 2 กับพวกได้ใช้รถยนต์เป็นพาหนะติดตามไป และจำเลยที่ 2 ได้ใช้อาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 มอบให้ยิงทำร้ายร่างกายนายไพบูลย์ เกื้อฉิม ถึงแก่ความตาย อันเป็นการกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในฐานะนายจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งโจทก์เสียหายหลายรายการคิดเป็นเงิน 322,500 บาท ขอให้ศาลบังคับ

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรมตำรวจจำเลยที่ 1 เป็นหน่วยราชการหน่วยหนึ่งการที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดจำเลยที่ 1 เป็นไปตามอำนาจกฎหมายหาใช่เกิดจากสัญญาจ้าง การกระทำของจำเลยที่ 2 ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงไม่ใช่ในฐานะลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 โจทก์จะมาฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในฐานะนายจ้างหาได้ไม่ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1รับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1โดยให้รับฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวแก่จำเลยที่ 1 ด้วย

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรมในรัฐบาลเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎร มีหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ทำงานตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งของสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านนาสารซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 คำบรรยายฟ้องในตอนแรกนี้จึงเป็นการบรรยายฟ้องให้เห็นฐานะความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 ว่ามีความสัมพันธ์กันตามกฎหมาย แม้ต่อมาโจทก์จะบรรยายฟ้องเกินเลยไปว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้าง จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ก็หาทำให้คำบรรยายฟ้องของโจทก์ตอนแรกเสียไปไม่ทั้งโจทก์ได้บรรยายมาชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 ออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจตรารักษาความสงบตามคำสั่งของสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านนาสาร อันเป็นการออกไปปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนที่ทางราชการจำเลยที่ 1 จ่ายให้ใช้ในราชการยิงนายไพบูลย์บุตรโจทก์ถึงแก่ความตาย ขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย อันเป็นการบรรยายฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้บังคับบัญชารับผิดฐานละเมิดร่วมกับจำเลยที่ 2 หาใช่ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะนายจ้างแต่ประการเดียวไม่

พิพากษายืน

Share