คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2092/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเชื้อเพลิง พ.ศ. 2503 มาตรา 20ผู้อำนวยการองค์การโจทก์มีอำนาจและหน้าที่จัดการและดำเนินกิจการ ขององค์การโจทก์ให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับที่คณะกรรมการ กำหนด การฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ก่อความเสียหายก็เป็นการดำเนินกิจการอย่างหนึ่ง จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่า การที่ผู้อำนวยการองค์การโจทก์ ฟ้องคดีนี้เป็นการขัดต่อนโยบายและข้อบังคับของคณะกรรมการประการใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ส. กับ ว. ต่างเป็นพนักงานของโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ทำงานให้แก่โจทก์และโจทก์จ่ายสินจ้างให้ตลอดเวลาที่ทำงาน แม้โจทก์จะจัดตั้งขึ้น โดยพระราชกฤษฎีกา โจทก์ก็เป็นเพียงองค์การรัฐวิสาหกิจ หาใช่ส่วนราชการไม่ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบุคคลทั้งสอง จึงมิใช่ความสัมพันธ์ระหว่าง กรมกระทรวงในรัฐบาลกับข้าราชการซึ่งมีขึ้นโดยกฎหมายฝ่ายปกครองแต่เป็นความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงาน แม้โจทก์จะมีข้อบังคับ ว่าด้วยวินัยพนักงานซึ่งคณะกรรมการองค์การโจทก์วางไว้โดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเชื้อเพลิง พ.ศ. 2503 เพื่อใช้บังคับแก่บรรดาพนักงานของโจทก์ ก็เป็นเพียงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบุคคลทั้งสองจึงยังคงเป็นความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานอยู่นั่นเอง
โจทก์มีคำสั่งมอบหมายให้ ส. กับ ว. เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงของโจทก์ และในกรณีที่จ้างบุคคลอื่น มาทำการขนส่งแทนก็ให้อยู่ในความควบคุมตรวจตราดูแลให้เป็น ที่เรียบร้อย แต่บุคคลทั้งสองกลับละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของโจทก์ โดยไม่ควบคุมตรวจตราดูแลการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นที่เรียบร้อยจนเป็นเหตุให้ ก. กับพวกซึ่งรับจ้างโจทก์ขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงได้ร่วมกันเอาน้ำมันเชื้อเพลิงของโจทก์ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยผิดกฎหมาย จึงเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน ย่อมเป็นการไม่ชำระหนี้ แก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ถึงแม้โจทก์จะได้รับความเสียหายแก่ทรัพย์สินเนื่องจากความประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลทั้งสอง อันถือได้ว่า เป็นการกระทำละเมิด แต่การไม่ชำระหนี้ของลูกจ้างตามสัญญาก็เป็นการผิดสัญญาด้วย เมื่อการกระทำของ ส. กับ ว. เป็นทั้งละเมิด และผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นได้ทั้งสองทาง สำหรับสิทธิเรียกร้อง ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้น มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ถึงหากสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดจะขาดอายุความแล้ว ก็หามีผลกระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหาย อันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 820/2513) จำเลยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการองค์การโจทก์ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2508 โจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของ ส. กับ ว.ลูกจ้างของโจทก์ ระหว่างวันที่ 16 มีนาคม 2510 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2511 จำเลยพ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การโจทก์ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2519 และ ช. ผู้อำนวยการคนใหม่ได้ทราบเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนวันเข้ารับตำแหน่ง เพราะเป็นผู้รักษาการแทนระหว่างจำเลยลาป่วยมาก่อนขณะนั้นสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจาก การผิดสัญญาจ้างแรงงานยังไม่ขาดอายุความ หากโจทก์จะฟ้อง ส. กับ ว.ให้รับผิดก็ยังมีสิทธิฟ้องได้ แต่โจทก์มิได้ฟ้องเอง การที่จำเลยมิได้ ดำเนินการฟ้องบุคคลทั้งสองภายในกำหนดอายุความ 1 ปี จึงไม่เป็นเหตุ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยไม่เป็นละเมิด ดังโจทก์ฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้อำนวยการของโจทก์มีหน้าที่ดำเนินกิจการของโจทก์ตามนโยบายและข้อบังคับ กับมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานของโจทก์ทุกตำแหน่ง เมื่อระหว่างวันที่ 16 มีนาคม 2510 ถึงวันที่ 31 มกราคม2511 โจทก์โดยจำเลยได้จ้างนางกมลขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ จากคลังน้ำมันพระโขนง กรุงเทพมหานคร ไปยังคลังน้ำมันขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นนางกมลกับพวกได้ร่วมกันเอาน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวของโจทก์ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว รวมทั้งหมดเป็นเงิน 1,401,702 บาท ต่อมาเจ้าหน้าที่กองตรวจของโจทก์ตรวจพบได้รายงานให้จำเลยทราบตามหนังสือลงวันที่ 26 มกราคม 2521 จำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิด คณะกรรมการสอบสวนได้รายงานผลการสอบสวนชั้นต้นให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2511 โดยระบุความผิดของนางกมลกับพวก ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนได้รายงานผลการสอบสวนเพิ่มเติมลงวันที่5 เมษายน 2511 ว่าเหตุที่เกิดความเสียหายดังกล่าวเนื่องจากความประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของนายแสวงหัวหน้ากองขนส่ง และนายวิรัตน์รักษาการหัวหน้าแผนกรถบรรทุกน้ำมัน พนักงานของโจทก์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ กับระบุจำนวนเงินที่นายแสวงและนายวิรัตน์จะต้องรับผิดต่อโจทก์เสนอให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2511 แต่จำเลยละเลยหน้าที่และไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของคณะกรรมการองค์การเชื้อเพลิงว่าด้วยความรับผิดชอบในทางแพ่ง พ.ศ. 2505 โดยไม่พิจารณาสั่งการเกี่ยวกับรายงานดังกล่าวภายใน 45 วัน และไม่ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการดำเนินคดีแก่นายแสวงและนายวิรัตน์ภายในอายุความ 1 ปี ครั้นวันที่ 11 กรกฎาคม 2511 คณะกรรมการสอบสวนได้รายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงและรายละเอียดผู้ที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มเติมเสนอจำเลยอีก จำเลยทราบแล้วไม่สั่งประการใด จนกระทั่งวันที่ 11 กรกฎาคม 2512 จำเลยจึงได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมอัยการขอให้ดำเนินคดีแก่ผู้ต้องรับผิดต่อมาวันที่ 16 กรกฎาคม 2512 อธิบดีกรมอัยการมีหนังสือแจ้งว่าคดีขาดอายุความ จำเลยทราบแล้วได้ปกปิดและเก็บเรื่องไว้จนจำเลยพ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิด เป็นเหตุให้โจทก์เสียสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนายแสวงและนายวิรัตน์ ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหาย 963,499.20 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง

จำเลยให้การว่า งานเกี่ยวกับคดีเป็นหน้าที่ของหัวหน้ากองกฎหมายที่จะต้องเสนอแนะแก่จำเลยให้ดำเนินคดีแก่นายแสวงกับนายวิรัตน์ภายในอายุความ และหัวหน้ากองกฎหมายก็มีสิทธิดำเนินคดีได้ แต่หัวหน้ากองกฎหมายก็มีสิทธิดำเนินคดีได้ แต่หัวหน้ากองกฎหมายละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนการกระทำของจำเลยไกลกว่าเหตุ ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ และการที่จำเลยไม่ได้สั่งการตามรายงานเพิ่มเติมของคณะกรรมการสอบสวนฉบับลงวันที่5 เมษายน 2511 ก็เนื่องจากคณะกรรมการสอบสวนเสนอความเห็นผิดประเด็นนายแสวงกับนายวิรัตน์มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์โดยสัญญาจ้าง การที่บุคคลทั้งสองประมาทเลินเล่อละเลยต่อหน้าที่ทำให้โจทก์เสียหายเป็นการผิดสัญญาจ้างไม่ใช่ละเมิด โจทก์จึงฟ้องบุคคลทั้งสองได้ภายใน 10 ปี คดีไม่ขาดอายุความ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เพราะผู้อำนวยการของโจทก์ไม่มีอำนาจมอบคดีให้พนักงานอัยการ ผู้แทนของโจทก์ในการดำเนินคดีคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และคดีโจทก์ก็ขาดอายุความแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์963,499.20 บาท พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ผู้อำนวยการองค์การโจทก์ไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์แต่เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเชื้อเพลิง พ.ศ. 2503 มาตรา 20 ผู้อำนวยการองค์การโจทก์มีอำนาจและหน้าที่จัดการและดำเนินกิจการขององค์การโจทก์ ให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด การฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ก่อความเสียหายก็เป็นการดำเนินกิจการอย่างหนึ่ง จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่า การที่ผู้อำนวยการองค์การโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการขัดต่อนโยบายและข้อบังคับของคณะกรรมการประการใด ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ด้วยหรือไม่นั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัย

ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ เพราะนายแสวงกับนายวิรัตน์ผิดสัญญาจ้างซึ่งมีกำหนดอายุความฟ้องร้อง 10 ปี การงดเว้นของจำเลยยังไม่เข้าเกณฑ์ละเมิด ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นายแสวงกับนายวิรัตน์ต่างเป็นพนักงานของโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ทำงานให้แก่โจทก์ และโจทก์จ่ายสินจ้างให้ตลอดเวลาที่ทำงาน แม้โจทก์จะตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา โจทก์ก็เป็นเพียงองค์การรัฐวิสาหกิจ หาใช่ส่วนราชการไม่ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบุคคลทั้งสอง จึงมิใช่ความสัมพันธ์ระหว่างกรมกระทรวงในรัฐบาลกับข้าราชการซึ่งมีขึ้นโดยกฎหมายฝ่ายปกครอง แต่เป็นความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานอันเกิดจากการแสดงเจตนาตกลงกัน โดยบุคคลทั้งสองเป็นลูกจ้างและโจทก์เป็นนายจ้างแม้โจทก์จะมีข้อบังคับว่าด้วยวินัยพนักงาน ซึ่งคณะกรรมการองค์การโจทก์วางไว้ โดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเชื้อเพลิง พ.ศ. 2503 เพื่อใช้บังคับแก่บรรดาพนักงานของโจทก์ก็เป็นเพียงข้อกำหนดของนายจ้างเกี่ยวกับการทำงานของลูกจ้าง เมื่อบุคคลทั้งสองตกลงเข้าทำงานให้แก่โจทก์ภายใต้ข้อบังคับว่าด้วยวินัยพนักงานที่โจทก์วางไว้ อันเป็นการยอมรับตามข้อกำหนด ข้อบังคับว่าด้วยวินัยพนักงานนั้นย่อมเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบุคคลทั้งสอง จึงยังคงเป็นความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานอยู่นั่นเองลูกจ้างนั้นมีหน้าที่หรือหนี้ตามสัญญาที่จะต้องทำงานให้แก่นายจ้างภายใต้บังคับบัญชาของนายจ้าง กล่าวคือจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างโดยไม่จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายหรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่ง ทั้งจะต้องไม่กระทำผิดอย่างร้ายแรงหรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ถ้าหากลูกจ้างไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ ซึ่งเป็นการผิดสัญญา นายจ้างในฐานะเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแก่การนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215 คดีนี้นางกมลกับพวก ซึ่งรับจ้างโจทก์ขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ร่วมกันเอาน้ำมันของโจทก์ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยผิดกฎหมายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขณะเดียวกันความเสียหายที่เกิดขึ้นก็เกิดจากการกระทำของนายแสวงกับนายวิรัตน์ลูกจ้างของโจทก์ด้วย เพราะในการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงของโจทก์และในกรณีที่จ้างบุคคลอื่นมาทำการขนส่งแทนก็ให้อยู่ในความควบคุมตรวจตราดูแลให้เป็นที่เรียบร้อย แต่บุคคลทั้งสองกลับละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของโจทก์โดยไม่ควบคุมตรวจตราดูแลการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นที่เรียบร้อยจนเป็นเหตุให้น้ำมันเชื้อเพลิงของโจทก์ถูกเบียดบังเอาไป การที่บุคคลทั้งสองไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาดังกล่าวย่อมเป็นการไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ถึงแม้โจทก์จะได้รับความเสียหายแก่ทรัพย์สินเนื่องจากความประมาทเลิ่นเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลทั้งสองอันถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิด แต่การไม่ชำระหนี้ของลูกจ้างตามสัญญาก็เป็นการผิดสัญญาด้วย

เมื่อการกระทำของนายแสวงกับนายวิรัตน์เป็นทั้งละเมิดและผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแก่การนั้นได้ทั้งสองทาง สำหรับสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากสัญญาจ้างแรงงานนั้นไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ถึงหากสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดจะขาดอายุความแล้วก็หามีผลกระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่ คดีนี้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของนายแสวงกับนายวิรัตน์ลูกจ้างของโจทก์ ระหว่างวันที่ 16 มีนาคม 2510 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2511 จำเลยพ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การโจทก์เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2519 และพันเอกไชยชาญผู้อำนวยการคนใหม่ได้ทราบเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนวันเข้ารับตำแหน่ง เพราะเป็นผู้รักษาการแทนจำเลยระหว่างจำเลยลาป่วยมาก่อน ขณะนั้นสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานยังไม่ขาดอายุความ หากโจทก์จะฟ้องนายแสวงกับนายวิรัตน์ให้รับผิดก็ยังมีสิทธิฟ้องได้ แต่โจทก์มิได้ฟ้องเอง การที่จำเลยมิได้ดำเนินการฟ้องบุคคลทั้งสองภายในกำหนดอายุความ 1 ปี จึงไม่เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยไม่เป็นละเมิดดังโจทก์ฟ้อง

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share