แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาระหว่างรัฐวิสาหกิจกับพนักงานอาจมีได้และไม่อยู่ในบังคับแห่งระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2534 ที่กำหนดเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานรัฐวิสาหกิจที่ถูกเลิกจ้างไว้ในข้อ 45 วรรคหนึ่งโดยกำหนดให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานในกรณีที่เลิกจ้าง ตามความในวรรคสามที่กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่า”ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การจ้างพนักงานเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาลหรือเป็นงานตามโครงการซึ่งรัฐวิสาหกิจและพนักงานตกลงทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือโดยมีกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้และให้หมายความรวมถึงกรณีที่สัญญาจ้างดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้วแต่งานยังไม่แล้วเสร็จ หากรัฐวิสาหกิจและพนักงานจะตกลงต่อสัญญาจ้างกันอีก ระยะเวลาการจ้างทั้งสิ้นรวมแล้วจะต้องไม่เกินระยะเวลาการจ้างตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างฉบับแรกด้วย ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่ารัฐวิสาหกิจจำเลยประกอบธุรกิจและมีวัตถุประสงค์ในการรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ให้แก่บุคคลทั่วไป จำเลยจ้างโจทก์ให้ทำหน้าที่ขับรถยนต์ งานที่จำเลยให้โจทก์ทำไม่มีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจรเป็นไปตามฤดูกาลหรือเป็นงานตามโครงการ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2534 กำหนดไว้ในข้อ 8 วรรคหนึ่งว่า พนักงานซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่าปีละหกวันทำงาน โดยให้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้กำหนดล่วงหน้าให้ และข้อ 20 กำหนดว่า ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายเงินเดือนค่าจ้างแก่พนักงานเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างในวันทำงานสำหรับวันหยุดต่อไปนี้ (3) วันหยุดพักผ่อนประจำปี และข้อ 21กำหนดว่า ถ้ารัฐวิสาหกิจเลิกจ้างพนักงานโดยพนักงานมิได้มีความผิดตามข้อ 46 ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายเงินเดือนค่าจ้างแก่พนักงานสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่พนักงานมีสิทธิได้รับตามข้อ 8 และข้อ 20 ด้วย ดังนี้ รัฐวิสาหกิจจึงมีหน้าที่ต้องกำหนดวันที่ที่จะให้พนักงานหยุดพักผ่อนประจำปีแจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้าหรือจัดให้พนักงานได้หยุดพักผ่อนประจำปี ตามจำนวนวันที่กฎหมายกำหนดเมื่อรัฐวิสาหกิจมิได้กำหนดหรือจัดให้พนักงานหยุดพักผ่อนประจำปีต้องจ่ายเงินเดือนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่พนักงานที่ต้องไปทำงานโดยไม่ได้หยุดดังกล่าว เว้นแต่ในกรณีที่พนักงานผู้นั้นถูกเลิกจ้างโดยมีความผิดตามข้อ 46รัฐวิสาหกิจไม่อาจอ้างได้ว่าพนักงานไม่ใช้สิทธิหยุดงานเองจึงไม่ได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เมื่อการที่จำเลยไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไปหรือไม่ต่อสัญญาจ้างมิใช่ผลของการสิ้นสุดแห่งสัญญา แต่เป็นการเลิกจ้าง และไม่ปรากฎว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างโดยมีความผิดตามข้อ 46 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2533 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งพนักงานขับรถเทรลเล่อร์ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 157 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 5 ของเดือนมีวันอาทิตย์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม2539 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า นอกจากนี้ในระหว่างที่โจทก์ทำงานให้จำเลยรวม 5 ปี11 เดือน 22 วัน จำเลยไม่เคยให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งตามกฎหมายโจทก์มีสิทธิหยุดปีละ 6 วัน รวม 36 วัน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์จำนวน 5,652 บาทขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 28,260 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 4,396 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 5,652 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า สัญญาจ้างโจทก์เป็นสัญญาจ้างลูกจ้างมีลักษณะเป็นครั้งคราวเฉพาะงาน มีกำหนดระยะเวลาจ้างแน่นอนเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2538 ถึงวันที่ 10ธันวาคม 2539 ดังนั้น เมื่อสัญญาถึงกำหนดจึงเป็นอันสิ้นสุดทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า นอกจากนี้โจทก์ได้กระทำการโดยจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายต้องเสียค่าเช่ารถยนต์ ค่าขาดประโยชน์และค่าจ้างที่จ่ายให้โจทก์ รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 9,601.32 บาทนอกจากนี้โจทก์ยังขับรถบรรทุกของจำเลยไปเฉี่ยวชนรถยนต์ของบุคคลอื่น ทำให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย แต่โจทก์มิได้แจ้งเหตุให้จำเลยทราบ และโจทก์ได้ปลุกปั่นพนักงานรายวันให้กระด้างกระเดื่องต่อจำเลยโดยไปร้องเรียนต่อหนังสือพิมพ์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องการบรรจุให้เป็นพนักงานประจำ ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้อง สำหรับค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์ไม่มีสิทธิได้เนื่องจากจำเลยให้สิทธิโจทก์ลาหยุดได้ แต่โจทก์ไม่ประสงค์จะหยุดเอง นอกจากนี้หากโจทก์ไม่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนในแต่ละปีสิทธิเรียกร้องสำหรับค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์ก็ย่อมหมดไป และในปี 2539 โจทก์ได้ใช้สิทธิลาหยุดแล้วจำนวน3 วัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 28,260 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 471 บาท แก่โจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลาจ้างแน่นอนเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2538 ถึงวันที่10 ธันวาคม 2539 เมื่อครบกำหนดเวลาจ้างสัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงโดยผลของสัญญา มิใช่เป็นการเลิกจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนั้น เห็นว่า ประเด็นตามอุทธรณ์ของจำเลยคือโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่ คดีนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่พ.ศ. 2533 โดยจำเลยจ้างโจทก์ให้ทำหน้าที่ขับรถยนต์ และจำเลยมีวัตถุประสงค์ในการรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ให้แก่บุคคลทั่วไปงานที่จำเลยจ้างโจทก์ทำจึงมิใช่งานมีลักษณะเป็นครั้งคราวแต่เป็นงานประจำที่มีอยู่เป็นปกติธุระของจำเลย การทำงานมีลักษณะเป็นงานต่อเนื่อง จึงไม่อยู่ในข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ 45 วรรคท้าย แห่งระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534เป็นการฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตั้งแต่ พ.ศ. 2533 มีการทำสัญญาจ้างต่อเนื่องเป็นรายปีโดยมีสัญญาจ้างฉบับสุดท้ายตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งสิ้นสุดระยะเวลาจ้างในวันที่ 10 ธันวาคม 2539 หลังจากนั้นจำเลยไม่ต่ออายุสัญญาให้โจทก์ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่จำเลยไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไปเป็นผลจากสัญญาจ้างสิ้นสุดลงนั้น เห็นว่า ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 กำหนดเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานรัฐวิสาหกิจที่ถูกเลิกจ้างไว้ในข้อ 45 วรรคหนึ่ง โดยกำหนดให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานในกรณีที่เลิกจ้างและในวรรคสองกำหนดความหมายของคำว่า เลิกจ้าง คือการที่รัฐวิสาหกิจให้ออกจากงาน ปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงานโดยที่พนักงานไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 46 หรือในกรณีที่รัฐวิสาหกิจไม่ยอมให้พนักงานทำงานเกินเจ็ดวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่จ่ายเงินเดือนค่าจ้างให้ถ้าปรากฏว่ารัฐวิสาหกิจมีเจตนาจะไม่จ้างพนักงานนั้นทำงานต่อไปหรือกลั่นแกล้งพนักงาน ให้ถือเป็นการเลิกจ้างด้วยและในวรรคสามกำหนดข้อยกเว้นไว้ว่า “ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การจ้างพนักงานเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจรเป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการซึ่งรัฐวิสาหกิจและพนักงานตกลงทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือโดยมีกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้ และให้หมายความรวมถึงกรณีที่สัญญาจ้างดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้วแต่งานยังไม่แล้วเสร็จ หากรัฐวิสาหกิจและพนักงานจะตกลงต่อสัญญาจ้างกันอีก ระยะเวลาการจ้างทั้งสิ้นรวมแล้วจะต้องไม่เกินระยะเวลาการจ้างตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างฉบับแรกด้วยจากระเบียบข้อที่กล่าวมานี้ชี้ให้เห็นว่า สัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลาระหว่างรัฐวิสาหกิจกับพนักงานอาจมีได้และไม่อยู่ในบังคับแห่งวรรคหนึ่งหากว่าเป็นการจ้างเพื่อการทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการ แต่สำหรับคดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยประกอบธุรกิจและมีวัตถุประสงค์ในการรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ให้แก่บุคคลทั่วไป จำเลยจ้างโจทก์ให้ทำหน้าที่ขับรถยนต์งานที่จำเลยให้โจทก์ทำจึงไม่มีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจรเป็นไปตามฤดูกาลหรือเป็นงานตามโครงการ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
อุทธรณ์ข้อต่อไปที่ว่า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 3 วัน เมื่อโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิลาหยุดและครบกำหนดสัญญาจ้างแล้วจำเลยจึงไม่ต้องชำระให้โจทก์นั้น เห็นว่าตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 กำหนดไว้ในข้อ 8 วรรคหนึ่งว่า “พนักงานซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่าปีละหกวันทำงาน โดยให้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้กำหนดล่วงหน้าให้” และข้อ 20 กำหนดว่า”ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายเงินเดือนค่าจ้างแก่พนักงานเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างในวันทำงานสำหรับวันหยุดต่อไปนี้ (3) วันหยุดพักผ่อนประจำปี”และข้อ 21 กำหนดว่า “ถ้ารัฐวิสาหกิจเลิกจ้างพนักงานโดยพนักงานมิได้มีความผิดตามข้อ 46 ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายเงินเดือนค่าจ้างแก่พนักงานสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่พนักงานมีสิทธิได้รับตามข้อ 8 และข้อ 20 ด้วย” จากข้อกำหนดในระเบียบดังกล่าวมาแสดงให้เห็นว่า รัฐวิสาหกิจมีหน้าที่ต้องกำหนดวันที่ที่จะให้พนักงานหยุดพักผ่อนประจำปีแจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้าหรือจัดให้พนักงานได้หยุดพักผ่อนประจำปี ตามจำนวนวันที่กฎหมายกำหนด เมื่อรัฐวิสาหกิจมิได้กำหนดหรือจัดให้พนักงานหยุดพักผ่อนประจำปีต้องจ่ายเงินเดือนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่พนักงานที่ต้องไปทำงานโดยไม่ได้หยุดดังกล่าว เว้นแต่ในกรณีที่พนักงานผู้นั้นถูกเลิกจ้างโดยมีความผิดตามข้อ 46 รัฐวิสาหกิจไม่อาจอ้างได้ว่าพนักงานไม่ใช้สิทธิหยุดงานเองจึงไม่ได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เมื่อวินิจฉัยมาแล้วว่าการที่จำเลยไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไปหรือไม่ต่อสัญญาจ้างมิใช่ผลของการสิ้นสุดแห่งสัญญา แต่เป็นการเลิกจ้าง และไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างโดยมีความผิดตามข้อ 46 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์
พิพากษายืน