คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2550/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยฐานความผิดต่อ พ.ร.บ. ป่าไม้2 กระทง กระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยระบุวรรคของบทกฎหมายที่ยกขึ้นปรับ ลงโทษจำเลยให้ชัดเจนและแก้โทษเป็นจำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 4 ปี ดังนี้เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเล็กน้อย โดยยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคแรก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ร่วมกันทำผิดกฎหมาย จำเลยกับพวกร่วมกันทำไม้ยางอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยตัดฟันแล้วทอนเป็นท่อน จำนวน 1 ท่อนปริมาตร 8.46 ลูกบาศก์เมตร และจำเลยกับพวกร่วมกันมีไม้ยางซึ่งยังมิได้แปรรูปอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. จำนวน 1 ท่อน ปริมาตร8.46 ลูกบาศก์เมตร ดังกล่าวไว้ในครอบครองโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายและพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ไม้ดังกล่าวมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7,11, 69, 73, 74 ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2484มาตรา 6 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 7พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 9 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525 มาตรา 3, 5 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 และริบไม้ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7, 11, 69, 73 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494 มาตรา 6 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 7 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2522 มาตรา 9 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525มาตรา 4 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทง 3 ปี รวมเป็นจำคุก 6 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 69 วรรคสอง (1), 73 วรรคสอง (1)วางโทษจำคุกกระทงละ 2 ปี รวมเป็นจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในฐานความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ 2 กระทง กระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยระบุวรรคของบทกฎหมายที่ยกขึ้นปรับลงโทษจำเลยเสียให้ชัดเจน และแก้โทษเป็นจำคุกกระทงละ 2 ปีรวมจำคุก 4 ปี ดังนี้ เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเล็กน้อย โดยยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ฎีกาของจำเลยที่ว่าพยานโจทก์มีพิรุธขัดแย้งกันเอง ฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดนั้นล้วนแล้วแต่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้นแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของจำเลย.

Share