คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5539/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

รายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติถือเป็นรายงานของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติไปตามคำสั่งของศาล ไม่เป็นพยานหลักฐานของโจทก์หรือจำเลยในคดี ข้อเท็จจริงตามรายงานดังกล่าวที่ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย จึงมิใช่ข้อเท็จจริงที่จำเลยได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ไม่จำต้องรับวินิจฉัยให้
ผู้กระทำความผิดในฐานะกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและหลบหนีไม่แจ้งเหตุ ไม่ถือว่าเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง เมื่อตามรายงานของพนักงานคุมประพฤติปรากฏว่ามารดาของผู้ตายและ บ. ได้รับชดใช้ค่าเสียหายเป็นที่พอใจและต่างไม่ติดใจที่จะดำเนินการในทางแพ่งอีก ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยขับรถยนต์ไปตามถนนเจิมปัญญาจากทิศเหนือมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางโค้งด้วยความประมาท จำเลยขับรถยนต์คันดังกล่าวด้วยความเร็วสูงเกินสมควรโดยไม่ชะลอความเร็วให้ช้าลง และขับรถไปในทางเดินรถที่ผู้ตายขับสวนทางมาด้วยความประมาทของจำเลยเป็นเหตุให้รถคันที่จำเลยขับชนกับรถที่ผู้ตายขับ ทำให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและเมื่อจำเลยขับรถยนต์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของบุคคลอื่นแล้ว จำเลยไม่กระทำการหยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร และไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 78, 157, 160

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4)(8), 78 (ที่ถูก 78วรรคหนึ่ง), 157, 160 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษทุกกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งมีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 4 ปี ฐานไม่หยุดรถช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 4 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก2 ปี 2 เดือน พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยแล้ว จำเลยเองชดใช้เงินแก่ญาติผู้ตายเพียง 10,000 บาท พฤติการณ์แห่งคดีจำเลยขับรถในเมืองด้วยความเร็วสูงจนเกิดเหตุชนด้วยความแรง เมื่อเกิดเหตุแล้วจำเลยหลบหนีหาได้หยุดรถช่วยเหลือผู้ถูกชนในทันทีไม่ ส่วนการชดใช้เงินของบริษัทประกันภัยก็หาใช่การบรรเทาผลร้ายของจำเลยโดยตรง ไม่สมควรรอการลงโทษให้จำเลย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจราทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 วรรคสาม ซึ่งเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 อีกมาตราหนึ่ง สำหรับความผิดฐานไม่หยุดรถช่วยเหลือและไม่แสดงตัวแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงาน ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 วรรคหนึ่ง จำคุก 3 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วจำคุก 1 เดือน 15 วัน รวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกทั้งสิ้น 2 ปี 1 เดือน 15 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในข้อแรกว่า ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติจังหวัดตรังว่าจำเลยได้ต่อสู้ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยซึ่งรายงานการสืบเสาะและพินิจก็เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาพิพากษา จึงถือว่าจำเลยได้ยกข้อต่อสู้ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นแล้วโดยชอบศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่รับวินิจฉัย จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า รายงานการสืบเสาะและพินิจถือเป็นรายงานของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติไปตามคำสั่งของศาล จึงไม่นับเป็นพยานหลักฐานของโจทก์หรือจำเลยในคดี ข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติจังหวัดตรังที่ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย จึงมิใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่รับวินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่าสมควรรอการลงโทษแก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ผู้กระทำความผิดในฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและหลบหนีไม่แจ้งเหตุตามฟ้อง ไม่ถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงและตามรายงานของพนักงานคุมประพฤติจังหวัดตรังก็ปรากฏว่านางปราณี สมบูรณ์มารดาของผู้ตาย และนางสาวบุญยืน ปานรังสี ได้รับชดใช้ค่าเสียหายเป็นที่พอใจต่างไม่ติดใจที่จะดำเนินการในทางแพ่งอีก ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน กรณีจึงสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย เพราะการลงโทษจำคุกในระยะสั้นนอกจากจะไม่เกิดผลในการแก้ไขฟื้นฟูจำเลยให้กลับตัวเป็นคนดีได้แล้ว ยังทำให้จำเลยมีประวัติเสื่อมเสียยากที่จะกลับตนเป็นพลเมืองดี ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษให้จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น แต่เพื่อให้หลาบจำจึงให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติไว้ด้วย”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งโดยความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ให้ปรับ 10,000 บาท ความผิดฐานหลบหนีไม่แจ้งเหตุ ให้ปรับ 2,000 บาท รวมปรับ 12,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้ 2 ปีนับตั้งแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share