แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขีดฆ่าตัดทอนข้อความในเอกสารที่แท้จริง เพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อว่าจำเลยได้ชำระหนี้แล้ว ขอให้ลงโทษจำเลยฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยเขียนกากบาทบนข้อความของเอกสารนั้นทั้งฉบับ โดยจำเลยมิได้ตัดทอนข้อความหรือแก้ไขในเอกสารที่แท้จริงนั้นให้ผิดไปจากข้อความเดิมแต่ประการใด การกระทำของจำเลยไม่มีอะไรที่จะว่าปลอมให้ผิดไปจากความจริง ฉะนั้น แม้จะเข้าใจดังที่โจทก์อ้างว่าจำเลยกระทำไปเพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อว่าจำเลยได้ชำระหนี้แล้ว ก็ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจหรือขีดฆ่าตัดทอนข้อความในสมุดบัญชีเงินเชื่อจำนวน ๔,๘๓๘ บาท ซึ่งจำเลยได้ซื้อเชื่อปลาของนางจำรูญ แสงตรง ไป อันเป็นเอกสารหลักฐานว่าจำเลยเป็นหนี้ผู้เสียหาย ๔,๘๓๘ บาท เพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อว่าจำเลยได้ชำระหนี้ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๔
จำเลยให้การปฏิเสธ
ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม
ศาลชั้นต้นเห็นว่า การขีดฆ่าบัญชีของจำเลยเพียงเท่านั้น ไม่เป็นการปลอมเอกสาร พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ร่วมอุทธรณ์เป็นข้อกฎหมายว่า การขีดฆ่าที่จำเลยกระทำเป็นการปลอมเอกสารตามกฎหมายแล้ว
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาพิจารณาได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยเป็นหนี้ค่าซื้อเชื่อปลาจากโจทก์ ได้จดบันทึกให้โจทก์ไว้ในสมุดพกมีข้อความว่า “บัญชีรายเดิอน พ.ศ.๒๕๐๖ ๒๗ รวมเป็นเงินทั้งหมด รวม ๔,๘๓๘ บาท นางเพิ่ม แก้วอารี” ต่อมาโจทก์ทวงหนี้รายนี้ จำเลยได้ขอดูสมุดนั้น และเอาไปขีดกากบาทที่ข้อความดังกล่าว แล้วทิ้งสมุดลงที่ถนน ขณะเดียวกันจำเลยก็ขึ้นรถหนีไปไม่ใช้หนี้ให้โจทก์
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องโจทก์กล่าวหาว่า จำเลยขีดฆ่าตัดทอนข้อความในเอกสารที่แท้จริงเพื่อในคนอื่นหลงเชื่อว่าจำเลยได้ชำระหนี้แล้ว แต่ได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยเขียนกากบาทบนข้อความของเอกสารนั้นทั้งฉบับ โดยจำเลยมิได้ตัดทอนข้อความหรือแก้ไขในเอกสารที่แท้จริงนั้นให้ผิดไปจากข้อความเดิมแต่ประการใด การกระทำของจำเลยไม่มีอะไรที่จะว่าปลอมให้ผิดไปจากความจริง ฉะนั้น แม้จะเข้าใจดังที่โจทก์อ้างว่าจำเลยกระทำไปเพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อว่าจำเลยได้ชำระหนี้แล้ว ก็ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ พิพากษายืน