แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายเพื่อทวงค่าแรงที่ผู้เสียหายค้างบุตรชายของจำเลย เป็นการเข้าไปโดยมีเหตุผลสมควรโดยสุจริตแม้จำเลยจะได้ถือมีดไปด้วย แต่ก็เป็นเพียงมีดเหลียนซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปใช้สำหรับหวดหญ้า และไม่ปรากฏว่าจำเลยตั้งใจจะไปทำร้ายผู้เสียหายตั้งแต่แรก จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาบุกรุก จำเลยทวงค่าแรงจากผู้เสียหายไม่ได้จึงโกรธและใช้มีดเหลียนฟันพยายามทำร้ายผู้เสียหายแล้วเอาเครื่องสูบน้ำของผู้เสียหายไปมิใช่เป็นการฟันผู้เสียหายเพื่อความสะดวกหรือเพื่อเอาเครื่องสูบน้ำของผู้เสียหายไป การเอาเครื่องสูบน้ำของผู้เสียหายไปเกิดขึ้นหลังจากการทำร้ายร่างกายขาดตอนไปแล้ว จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ จำเลยเอาเครื่องสูบน้ำของผู้เสียหายไปเพื่อยึดเอาไว้ให้ผู้เสียหายไปจ่ายค่าแรงบุตรชายจำเลยแล้วจำเลยจะคืนให้ ถือได้ว่าจำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยมีเจตนาทุจริตอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะจำเลยไม่มีอำนาจเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยพลการได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 364,365 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514ข้อ 14 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2525 มาตรา 13 คืนเครื่องสูบน้ำของกลางแก่ผู้เสียหายและริบมีดเหลียนของกลาง จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 80ให้จำคุก 2 เดือน ให้ยกฟ้องข้อหาบุกรุกและชิงทรัพย์ คืนเครื่องสูบน้ำให้ผู้เสียหายและริบมีดเหลียนของกลาง โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง, 365 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 3 (ที่ถูกเป็น 13)ให้ลงโทษตามมาตรา 339 วรรคสอง บทหนัก ให้จำคุกจำเลยไว้ 10 ปีให้คืนเครื่องสูบน้ำให้ผู้เสียหายและริบมีดเหลียนของกลางด้วยจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานบุกรุก ทำร้ายร่างกายและชิงทรัพย์หรือไม่พิเคราะห์แล้วในข้อหาฐานบุกรุกนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่าผู้เสียหายค้างค่าแรงบุตรชายของจำเลยจริง การที่จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายเพื่อทวงค่าแรงดังกล่าวเป็นการเข้าไปโดยมีเหตุสมควรโดยสุจริต แม้จำเลยจะได้ถือมีดไปด้วย แต่ก็เป็นเพียงมีดเหลียนซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปใช้สำหรับหวดหญ้า และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นใดที่ทำให้เห็นว่าจำเลยตั้งใจจะไปทำร้ายผู้เสียหายตั้งแต่แรกจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาบุกรุก ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
สำหรับข้อหาฐานทำร้ายร่างกายนั้น โจทก์มีผู้เสียหายกับนางสาวกาหลงและนางประจวบ จ่าทองคำ น้องสาวสามีของผู้เสียหายเบิกความว่า อยู่บ้านเดียวกันและอยู่ในที่เกิดเหตุ พยานเหล่านี้ต่างเบิกความยืนยันว่า จำเลยถือมีดเหลียนเข้าไปในบ้านผู้เสียหายเมื่อทวงค่าแรงจากผู้เสียหายไม่ได้ จำเลยใช้มีดเหลียนดังกล่าวฟันผู้เสียหายแต่ถูกแขนเสื้อของผู้เสียหายขาด ศาลฎีกาเห็นว่าเหตุเกิดเวลากลางวัน ไม่มีปัญหาว่าพยานจะเห็นไม่ชัด พยานโจทก์ต่างเบิกความสอดคล้องต้องกัน และไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่พยานเหล่านี้จะเบิกความปรักปรำจำเลยโดยไม่เป็นความจริง นอกจากนี้ยังมีร้อยตำรวจเอกพงษ์วรรธน์ บุญประเสริฐ ผู้รับแจ้งเหตุเบิกความว่าตอนที่ผู้เสียหายไปแจ้งเหตุต่อพยานหลังเกิดเหตุไม่นานนั้น พยานเห็นที่แขนเสื้อของผู้เสียหายข้างหนึ่งมีรอยฉีกขาด เมื่อพยานถามว่ารอยแขนเสื้อขาดเกิดจากอะไร ผู้เสียหายก็บอกว่าถูกฟัน พยานกับผู้เสียหายได้ไปที่บ้านจำเลย พบจำเลย ผู้เสียหายได้ชี้ให้ดูมีดเหลียนที่จำเลยใช้เป็นอาวุธซึ่งวางอยู่กับพื้นในบริเวณบ้านพยานจึงได้ยึดมีดเหลียนดังกล่าวมาเป็นของกลาง กับร้อยตำรวจเอกสนิท นามโชติ พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ขณะที่ผู้เสียหายแจ้งความต่อพยานอีกครั้งหนึ่งตอนที่เจ้าพนักงานตำรวจนำตัวจำเลยไปมอบให้พยานพยานเห็นเสื้อของผู้เสียหายมีรอยขาดที่แขนซ้าย และผู้เสียหายยืนยันว่ามีดเหลียนของกลางเป็นมีดเหลียนที่จำเลยนำติดตัวไปคำเบิกความของเจ้าพนักงานตำรวจยืนยันข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหายและประจักษ์พยานคนอื่น ๆ คดีจึงฟังได้ว่าจำเลยนำมีดเหลียนไปที่บ้านผู้เสียหายด้วย และเมื่อผู้เสียหายไม่จ่ายค่าแรงให้จำเลย จำเลยก็ได้ใช้มีดเหลียนฟันผู้เสียหายแต่ไม่ถูกตัวผู้เสียหาย คงถูกแต่แขนเสื้อของผู้เสียหาย อันเป็นการพยายามทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย
ส่วนปัญหาที่ว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่นั้นเห็นว่า จำเลยทวงค่าแรงจากผู้เสียหายไม่ได้ จำเลยจึงใช้มีดเหลียนฟันพยายามทำร้ายผู้เสียหาย เชื่อว่าเป็นการฟันผู้เสียหายเพราะโกรธที่ผู้เสียหายไม่จ่ายค่าแรงตามที่จำเลยทวง มิใช่เป็นการฟันผู้เสียหายเพื่อความสะดวกหรือเพื่อเอาเครื่องสูบน้ำของผู้เสียหายไปการเอาเครื่องสูบน้ำของผู้เสียหายไปเกิดขึ้นหลังจากการทำร้ายร่างกายขาดตอนไปแล้ว จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่การที่จำเลยเอาเครื่องสูบน้ำของผู้เสียหายไป แม้จะฟังได้ตามทางนำสืบของจำเลยว่าจำเลยยึดเอาไปไว้ให้ผู้เสียหายไปจ่ายค่าแรงบุตรชายจำเลย จำเลยจึงจะคืนให้ ก็ถือได้ว่าจำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยมีเจตนาทุจริตอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว เพราะจำเลยไม่มีอำนาจเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยพลการได้ ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยเข้าใจว่าจำเลยกระทำได้ ก็ฟังไม่ขึ้น ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, 80 และมาตรา 335(7) วรรคแรก เป็นความผิดสองกระทงให้ลงโทษสำหรับความผิดกระทงแรกจำคุก 2 เดือน กระทงหลังจำคุก2 ปี รวมเป็นจำคุก 2 ปี 2 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์