คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2548/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด ประเด็นมีอยู่ว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ยึดนั้นหรือไม่ศาลมีอำนาจวินิจฉัยว่าการยกทรัพย์พิพาทให้ผู้ร้องขัดทรัพย์เป็นการสมยอมกันเพื่อให้ทรัพย์หลุดพ้นจากการถูกบังคับชำระหนี้ได้ โดยไม่ต้องให้โจทก์ไปฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการโอนหรือการฉ้อฉลเป็นคดีใหม่ไม่เป็นเรื่องนอกประเด็นเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาทำหนังสือยกบ้านพิพาทให้ผู้ร้องเป็นการสมยอมกันทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเสียเปรียบเป็นการฉ้อฉล บ้านพิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ ศาลก็พิพากษาให้ยกคำร้องขัดทรัพย์ได้
อุทธรณ์ของผู้ร้องว่า แม้โจทก์จะขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลก็ขาดอายุความแล้ว มิใช่เป็นการอุทธรณ์ในประเด็นที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้ยกคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องขัดทรัพย์สำหรับบ้านพิพาทเลขที่ 58/75ฯ และให้ถอนการยึดทรัพย์บ้านพิพาทเลขที่ 58/116ฯ ปล่อยทรัพย์ดังกล่าวคืนแก่ผู้ร้องขัดทรัพย์ ผู้ร้องขัดทรัพย์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้มีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะบ้านเลขที่ 58/75 ซอยมีสุข 138 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่นเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร

ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า การเพิกถอนการฉ้อฉลนั้นโจทก์จะต้องไปฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมที่อ้างว่าเป็นการฉ้อฉลเสียก่อน ตามคำคัดค้านของโจทก์ โจทก์คัดค้านแต่เพียงว่าเป็นนิติกรรมอำพราง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนนิติกรรมจึงเป็นการไม่ชอบ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าการร้องขอให้ศาลปล่อยทรัพย์ที่ยึด ประเด็นมีอยู่ว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ยึดนั้นหรือไม่ ฉะนั้น ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าการยกทรัพย์พิพาทให้ผู้ร้องขัดทรัพย์เป็นการสมยอมกันเพื่อให้ทรัพย์ที่ยึดหลุดพ้นจากการถูกบังคับชำระหนี้ได้ โดยไม่ต้องให้โจทก์ไปฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการโอน หรือการฉ้อฉลเป็นคดีใหม่ต่างหาก และที่ศาลวินิจฉัยเช่นนั้นไม่เป็นเรื่องนอกประเด็น คดีนี้เมื่อศาลแรงงานกลางฟังว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาทำหนังสือยกบ้านพิพาทเลขที่ 58/75 ให้ผู้ร้องเป็นการสมยอมกันทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเสียเปรียบ เป็นการฉ้อฉล บ้านพิพาทเลขที่58/75 จึงยังเป็นกรรมสิทธิของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ ศาลชอบที่จะพิพากษาให้ยกคำร้องขัดทรัพย์เสียได้ อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

ผู้ร้องอุทธรณ์ว่าอย่างไรก็ตามแม้โจทก์จะขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลนั้นก็ขาดอายุความหนึ่งปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบหรือควรจะทราบพิเคราะห์แล้วเห็นว่า อุทธรณ์ของผู้ร้อง มิใช่เป็นการอุทธรณ์ในประเด็นที่ศาลแรงงานกลางพิพากษา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า หนังสือสัญญายกให้เอกสารหมาย ร.1 เป็นเอกสารมหาชน ย่อมสันนิษฐานว่าผู้ร้องผู้มีชื่อทางทะเบียนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทเลขที่ 58/75 การนำสืบของโจทก์ โจทก์นำสืบหักล้างพยานเอกสารหมาย ร.1 อันเป็นเอกสารมหาชน เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและนำสืบนอกคำคัดค้าน พิเคราะห์แล้วเห็นว่าอุทธรณ์ของผู้ร้อง ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมาแล้วว่า การโอนบ้านพิพาทเลขที่ 58/75 ระหว่างนายประสิทธิ์ ศิริขันธ์ กับผู้ร้องเป็นการสมยอมกัน ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเสียเปรียบนิติกรรมสัญญายกให้เป็นการฉ้อฉล บ้านพิพาทเลขที่ 58/75 จึงยังคงเป็นของนายประสิทธิ์ ศิริขันธ์ อยู่ดังนี้ข้อกฎหมายที่ผู้ร้องยกมากล่าวในอุทธรณ์ก็เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ว่าบ้านพิพาทเลขที่ 58/75 ไม่ใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแต่เป็นของผู้ร้องนั่นเอง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 55 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน”

พิพากษายืน

Share