แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญา คดีก่อน โดยเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า “เมื่อประมาณต้นเดือนมีนาคม 2515 ข้าพเจ้าจึงได้ทราบเรื่องว่า จำเลยหมิ่นประมาทข้าพเจ้า” และเบิกความในชั้นพิจารณาว่า “ข้าพเจ้ามารู้แน่ชัดว่าจำเลยร้องเรียนข้าพเจ้าไปยังกรมสรรพากรเอาต้นเดือนมีนาคม 2515” ซึ่งความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ถ้าเบิกความไปตามความจริงแล้ว คดีดังกล่าวย่อมขาดอายุความ ดังนี้ ความจริงเป็นอย่างไร โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ทั้งเมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้วก็ไม่อาจอนุมานเอาได้ นอกจากนี้นเมื่อโจทก์อ้างว่าคำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดีก่อน โจทก์ก็ต้องบรรยายฟ้องพอให้เห็นความสำคัญนั้น ๆ ด้วย การที่โจทก์กล่าวแต่เพียงว่า ถ้าจำเลยเบิกความตามความจริงแล้ว คดีจะขาดอายุความ โดยมิได้กล่าวให้ปรากฏในคำฟ้องคดีนี้ว่า คดีอาญาคดีก่อนเป็นคดีที่ใครฟ้องใคร ด้วยข้อหาอะไร เช่นนี้ ศาลย่อมไม่อาจพิเคราะห์ได้ว่า วัน เดือน ปี ตามคำเบิกความของจำเลยนั้นเป็นข้อสำคัญในเรื่องอายุความของคดีอาญานี้หรือไม่ ทั้งคำฟ้องของโจทก์จะต้องสมบูรณ์อยู่แล้วโดยศาลไม่จำต้องไปตรวจดูสำนวนคดีอื่นที่ได้อ้างถึงเอาเองก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญา คดีก่อน โดยจำเลยที่ ๑ เบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า “เมื่อประมาณต้นเดือนมีนาคม ๒๕๑๕ ข้าพเจ้าจึงได้ทราบเรื่องว่า จำเลยหมิ่นประมาทข้าพเจ้า เพราะมีสรรพากรจังหวัดเพชรบุรีไปสอบสวนข้าพเจ้า” และเบิกความในชั้นพิจารณาว่า “ข้าพเจ้ามารู้แน่ชัดว่าจำเลยร้องเรียนข้าพเจ้าไปยังกรมสรรพากรเอาต้นเดือนมีนาคม ๒๕๑๕” ซึ่งความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี เพราะถ้าเบิกความไปตามความจริงแล้ว คดีดังกล่าวย่อมขาดอายุความ โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้ว ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗,๑๘๐,๘๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ผิดตามฟ้อง ลงโทษตามมาตรา ๑๗๗ วรรคสองจำคุก ๑ ปี ปรับ ๒,๐๐๐ บาท โทษจำคุกรอไว้ ๓ ปี ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มิได้บรรยายข้อเท็จจริงในฟ้องว่า จำเลยรู้เรื่องที่เป็นเหตุให้คดีขาดอายุความเมื่อใด และไม่ได้ความจากฟ้องว่า จำเลยในคดีเดิมถูกฟ้องข้อหาใด เพราะกำหนดอายุความแต่ละข้อหาไม่เท่ากัน ฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘(๕) พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ ด้วย
โจทก์ฎีกาว่า ได้ระบุข้อเท็จจริงที่จำเลยเบิกความในคดีเดิมแล้ว ถ้าจำเลยเบิกตามความจริง คดีจะต้องขาดอายุความในเมื่อได้ดูสำนวนคดีเดิมที่โจทก์อ้างถึง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้เบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้องและชั้นพิจารณาของศาลในข้อสำคัญในคดี โดยอ้างเฉพาะข้อความที่โจทก์ถือว่าเป็นความเท็จ แต่ความจริงเป็นอย่างไรโจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ทั้งเมื่ออาจคำฟ้องโดยตลอดแล้วก็ไม่อาจอนุมานเอาได้ นอกจากนั้น เมื่อโจทก์อ้างว่า คำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดีที่โจทก์ระบุมานั้น โจทก์ก็ต้อง บรรยายฟ้องพอให้เห็นความสำคัญนั้น ๆ ด้วย การที่โจทก์กล่าวลอย ๆ แต่เพียงว่า ถ้าจำเลยเบิกความตามความจริงแล้ว คดีอาญาดังกล่าวนั้นจะขาดอายุความ โดยมิได้กล่าวให้ปรากฏในคำฟ้องคดีนี้ว่า คดีอาญาคดีก่อนเป็นคดีที่ใครฟ้องใคร ด้วยข้อหาอะไร เช่นนี้ ศาลย่อมไม่อาจพิเคราะห์ได้ว่า วัน เดือน ปี ตามคำเบิกความของจำเลยนั้นเป็นข้อสำคัญในเรื่องอายุความของคดีอาญาที่โจทก์ระบุได้หรือไม่ที่โจทก์ฎีกาว่าจะดูได้จากสำนวนคดีที่โจทก์อ้างถึงนั้นหาถูกต้องไม่ เพราะคำฟ้องของโจทก์จะต้องสมบูรณ์อยู่แล้วโดยศาลไม่จำต้องไปตรวจดูสำนวนคดีอื่นที่ได้อ้างถึงเอาเองก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘(๕)
พิพากษายืน
(พยนต์ ยาวะประภาษ แผ้ว ศิวะบวร จันทร์ ระรวยทรง)