คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2542/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ก่อนฟ้องหย่าโจทก์พาจำเลยทั้งสองไปแจ้งความเป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจว่าพบจำเลยทั้งสองอยู่ในห้องและหลับนอนอยู่ด้วยกันสองต่อสอง และร้องเรียนผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 แต่ต่อมาโจทก์ได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนและมีการบันทึกในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้ว่า โจทก์ไม่ติดใจเอาความใด ๆ กับจำเลยที่ 2 หนังสือร้องเรียนเป็นเรื่องเข้าใจผิด โจทก์ได้ปรับความเข้าใจกับจำเลยทั้งสองแล้วเข้าใจกันดีแล้วทุกอย่าง จึงมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน โดยจำเลยที่ 2รับว่าจะไม่ฟ้องร้องโจทก์และจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์และจำเลยทั้งสองลงชื่อไว้ในเอกสารดังกล่าว รายงานประจำวันดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่ หรือที่จะมีขึ้นเกี่ยวกับการที่จำเลยทั้งสองเป็นชู้กันให้เสร็จไปด้วยต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ระงับสิ้นไปแล้ว โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246,247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ เด็กชายกรีตาพันธ์กับเด็กหญิงกัญญาวีร์ คุณมี ผู้เยาว์ทั้งสองอายุ 7 และ 4 ปี ตามลำดับโดยอยู่กินกันที่บ้านเลขที่ 48 หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านฝาง อำเภอกระนวนจังหวัดขอนแก่น ในช่วงปลายปี 2539 ถึงต้นปี 2540 จำเลยที่ 1คบชู้กับชายอื่น โจทก์ได้ว่ากล่าวตักเตือนแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่สำนึกผิดและคงประพฤติเช่นเดิมอีก โดยเป็นชู้ร่วมหลับนอนกับจำเลยที่ 2ในคืนวันที่ 2 สิงหาคม 2540 ถึงเช้าวันที่ 3 สิงหาคม 2540 ซึ่งจำเลยที่ 2 ทราบอยู่แล้วว่าโจทก์เป็นสามีของจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทดแทนให้โจทก์คนละ 100,000 บาท และให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนอยู่ในความปกครองของโจทก์ โดยถอนอำนาจปกครองจำเลยที่ 1

จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การในทำนองเดียวกันว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยามีบุตรด้วยกัน 2 คน จริง จำเลยที่ 1และที่ 2 ไม่ได้เป็นชู้กันเนื่องจากจำเลยที่ 1 รับราชการเป็นครูต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นทั่วไปภายนอกโรงเรียน แต่โจทก์เป็นคนขี้ระแวงสงสัย ในคืนวันที่ 2 สิงหาคม 2540 ถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2540 จำเลยทั้งสองไม่ได้ร่วมหลับนอนกัน โจทก์นำเจ้าพนักงานตำรวจ 2 คนมาที่บ้านหลังดังกล่าวและกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองเป็นชู้กัน โจทก์ขอร้องให้จำเลยทั้งสองมาที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองขอนแก่นแล้วแจ้งให้ตำรวจลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานว่าจำเลยทั้งสองเป็นชู้และร่วมหลับนอนกันที่บ้านเลขที่ 108 ดังกล่าว และร้องเรียนจำเลยที่ 2 ต่อผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ภายหลังโจทก์ทราบความจริงว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นชู้กันจริง เพียงแต่เกิดความระแวงสงสัยจึงถอนคำแจ้งความและคำร้องเรียน ขอให้ศาลยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ 20,000บาท ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ 50,000 บาท ให้จำเลยที่ 1เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชายกรีตาพันธ์ คุณมี และเด็กหญิงกัญญาวีร์ คุณมี ผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยทั้งสองเป็นชู้กันและโจทก์มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรยกปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ขึ้นวินิจฉัยก่อนว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ล.3 แล้ว มีข้อความสำคัญตอนท้ายว่าโจทก์ไม่ขอติดใจเอาความใด ๆ กับจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด ซึ่งหนังสือร้องเรียนดังกล่าวเป็นการเข้าใจผิด โจทก์ได้พูดคุยปรับความเข้าใจกับจำเลยทั้งสองแล้วเข้าใจกันดีแล้วทุกอย่าง จึงมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน โดยจำเลยที่ 2 รับว่าจะไม่ฟ้องร้องกับโจทก์และจำเลยที่ 1 ด้วยโจทก์และจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารดังกล่าว เห็นว่าแม้จำเลยทั้งสองจะเป็นชู้กันหรือไม่ก็ตาม แต่รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ล.3 ดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นเกี่ยวกับการที่จำเลยทั้งสองเป็นชู้กันให้เสร็จไปด้วยต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน เอกสารดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 การเรียกร้องค่าทดแทนระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ยอมสละนั้นจึงระงับสิ้นไปแล้ว โจทก์จึงมาฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ไม่ได้ และปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246, 247 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2ใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share