แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่ง พนักงานรักษาความปลอดภัยมีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำอยู่ตาม สถานที่ที่จำเลยสั่งให้ไปปฏิบัติงานเดิม โจทก์ปฏิบัติงานอยู่ที่โรงแรมในกรุงเทพมหานคร ต่อ มาจำเลยสั่งให้ไปปฏิบัติงานที่โรงงานสุราจังหวัด นครปฐม แต่ โจทก์ไม่ไปขอทำงานใน กรุงเทพมหานคร เพราะภริยาโจทก์ป่วยเป็นคนพิการเดิน ไม่ได้ แม้หลังจากที่โจทก์ไม่ไปปฏิบัติงานที่โรงงานสุราจังหวัด นครปฐม ตาม คำสั่งของจำเลยและโจทก์ไม่มีหน้าที่ใด ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานที่บริษัทจำเลยโจทก์ก็ยังมีหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานที่ต้อง ทำงานให้แก่จำเลย คือต้อง มาที่บริษัทจำเลยเพื่อรับคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานใด ๆ ให้แก่จำเลย ซึ่ง หากไม่มาจำเลยก็ไม่อาจมีคำสั่งให้โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยได้ ดังนั้นการที่โจทก์ไม่มาที่บริษัทจำเลยเป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อ กันจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่โดย ไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดย ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2528 จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2532จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด ครั้งสุดท้ายโจทก์ทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารักษาความปลอดภัย ได้รับค่าจ้างวันละ 88 บาทจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วันเป็นเงิน 15,840 บาท แต่จำเลยไม่จ่ายให้ นอกจากนี้จำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2532 ถึงวันที่8 กันยายน 2532 เป็นเวลา 59 วัน เป็นเงิน 5,192 บาท ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายเป็นเงิน 5,192 บาท และค่าชดเชยเป็นเงิน 15,840 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างรายวันทำงานในตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัย มีหน้าที่รักษาความปลอดภัย(ยาม) ให้แก่ลูกค้าของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่ไปตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2532 และไม่ได้เข้าปฏิบัติงานตามหน้าที่อีกเลยโดยไม่ได้ให้เหตุผลแต่อย่างใดอันเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เมื่อเลิกจ้าง จำเลยไม่ได้ค้างชำระค่าจ้างแก่โจทก์ โดยครั้งสุดท้ายจำเลยได้ชำระค่าจ้างให้โจทก์จนถึงวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 อันเป็นวันสุดท้ายที่โจทก์ได้ทำงาน ส่วนวันถัดมาคือวันที่ 12 กรกฎาคม 2532 โจทก์ขาดงาน วันที่ 13 ถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2532 โจทก์ขอลาหยุดงานและตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2532 โจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่โดยไม่ได้มาปฏิบัติงานอีก โจทก์เป็นลูกจ้างรายวันได้รับค่าจ้างวันละ 88 บาทสำหรับวันที่ได้มาทำงาน ส่วนวันที่ไม่ได้มาทำงานไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์จำนวน15,840 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดียังมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่านับแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2532 โจทก์ได้มาที่สำนักงานของจำเลยเพื่อจะทำงานอีกหรือไม่ และจะถือว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 15,840 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งหน้าที่ของพนักงานรักษาความปลอดภัยคือการประจำอยู่ตามสถานที่ที่จำเลยส่งให้ไปปฎิบัติงาน เดิมโจทก์ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่โรงแรมมิได้ ถนนประดิพัทธ์ สะพานควายกรุงเทพมหานคร ต่อมาจำเลยส่งให้โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ที่โรงงานสุราพิเศษสุวรรณภูมิ จังหวัดนครปฐม แต่โจทก์ไม่ไป และขอทำงานในกรุงเทพมหานคร นายณัฏฐวุฒิ ฤทธาภรณ์ ผู้จัดการฝ่ายรักษาความปลอดภัยของจำเลยปฏิเสธที่จะจัดให้โจทก์ทำงานตามที่โจทก์ขอต่อมาตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2532 โจทก์ไม่ได้มาทำงานที่บริษัทจำเลยเป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน และเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2532จำเลยจึงได้เลิกจ้างโจทก์ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัย มีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำอยู่ตามสถานที่ที่จำเลยสั่งให้ไปปฏิบัติงานแม้หลังจากที่โจทก์ไม่ไปปฏิบัติงานที่โรงงานสุราพิเศษสุวรรณภูมิจังหวัดนครปฐม ตามคำสั่งของจำเลย และโจทก์ไม่มีหน้าที่ใดที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานที่บริษัทจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างก็ยังมีหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานที่ต้องทำงานให้แก่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง คือต้องมาที่บริษัทจำเลยเพื่อรับคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานใด ๆให้แก่จำเลย ซึ่งหากโจทก์ไม่มาที่บริษัทจำเลย จำเลยก็ไม่อาจมีคำสั่งให้โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยได้ ดังนั้น การที่โจทก์ไม่มาที่บริษัทจำเลยเป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์จำนวน15,840 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.