คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2541/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคท้าย เป็นมาตรการที่กฎหมายกำหนดขึ้นเพื่อบังคับให้ผู้กระทำความผิดฐานบุกรุกยึดถือครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่าหรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติต้องออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิด อันทำให้รัฐได้รับคืนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ การที่ผู้ร้องจะมีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อแสดงอำนาจพิเศษได้นั้น ต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนด ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องในการเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ เมื่อได้ความตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องปลูกสร้างร้านค้าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพียงแต่ไม่เคยถูกจับกุมดำเนินคดีหรือเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษและให้รื้อถอนร้านออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยผู้ร้องไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติจากอธิบดี ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง ให้จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง กับให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดอีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยและบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ และให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษว่าผู้ร้องมิใช่บริวารของจำเลย
โจทก์ จำเลย และเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยื่นคำคัดค้าน
ในวันนัดไต่สวนคำร้อง ผู้ร้องแถลงยืนยันว่า ผู้ร้องเข้ามาอยู่ในที่ดินตั้งแต่ปี 2556 โดยทราบว่าที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและผู้ร้องไม่มีสิทธิในที่ดิน แต่การเข้าครอบครองที่ดินของผู้ร้องนั้น ผู้ร้องเข้าครอบครองโดยมิได้เป็นบริวารของจำเลย จำเลยขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินก่อนแล้ว ผู้ร้องบุกรุกเข้ามาใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ที่ดินที่ผู้ร้องครอบครองอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้ร้องครอบครองที่ดินต่อจากจำเลย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษว่า ผู้ร้องมิใช่บริวารของจำเลยหรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องเข้ามาอยู่ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2556 โดยทราบว่าที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้ร้องไม่ได้อาศัยสิทธิของจำเลย ผู้ร้องเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทหลังจากจำเลยขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์จึงขอให้บังคับคดีในคดีเดิมไม่ได้ โจทก์ต้องฟ้องผู้ร้องเป็นคดีใหม่ จึงขอให้ยกเลิกการบังคับคดีแก่ผู้ร้องนั้น เห็นว่า แม้จำเลยได้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท ก่อนที่ผู้ร้องจะเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคท้าย เป็นมาตรการที่กฎหมายกำหนดขึ้นเพื่อบังคับให้ผู้กระทำความผิดฐานบุกรุกยึดถือครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ต้องออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิด อันทำให้รัฐได้รับคืนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ การที่ผู้ร้องจะมีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อแสดงอำนาจพิเศษได้นั้น ต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนด ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องในการเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ เมื่อได้ความตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องปลูกสร้างร้านค้าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพียงแต่ไม่เคยถูกจับกุมดำเนินคดีหรือเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษและให้รื้อถอนร้านออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยผู้ร้องไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติจากอธิบดี ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share