คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2541/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมเคยให้หนังสือพิมพ์ลงพิมพ์เกี่ยวกับจำเลยมีข้อความทำนองว่าจำเลยไปแจ้งความเท็จแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจหาว่าโจทก์ร่วมลักทรัพย์ เป็นการพยายามทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ฯลฯไปรับเงินสายหนังมาก็ปลอมลายมือโจทก์ร่วมว่ารับเงินจากจำเลยแล้ว จำเลยจึงเขียนข้อความส่งไปลงพิมพ์โฆษณาโต้ตอบในหนังสือพิมพ์ว่าโจทก์ร่วมเป็นเมียน้อยของจำเลย ทั้งๆ ที่จำเลยรู้อยู่ว่าโจทก์ร่วมมีสามี เป็นผลให้สามีโจทก์ร่วมเข้าใจผิด ดังนี้ การกระทำของจำเลยหาใช่เป็นการแสดงความคิดเห็น หรือข้อความใดโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมอันเกิดจากการที่โจทก์ร่วมให้หนังสือพิมพ์ลงพิมพ์เกี่ยวกับจำเลยไม่ จำเลยไม่อาจอ้างข้อนี้ขึ้นเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยหมิ่นประมาทใส่ความนางดวงตะวัน โปษยะจินดา ผู้เสียหายต่อบุคคลที่สาม ด้วยการโฆษณาในหนังสือพิมพ์ดาวสยาม อันเป็นเอกสารหนังสือพิมพ์ที่จำหน่ายทั่วไปในราชอาณาจักรไทย โดยจำเลยได้เขียนจดหมายถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ดาวสยามให้ลงข้อความโฆษณามีข้อความว่า “สุระ นานา ได้หอบหลักฐานต่าง ๆ มาชี้แจงแก่ผู้สื่อข่าวว่าคุณดวงตะวันให้ข่าวโกหกและคลาดเคลื่อนไปจากความจริงทั้งหมด” อีกตอนหนึ่งว่า “ที่ผมยอมให้คุณดวงตะวันมาชุบมือเปิบก็เพราะเห็นแก่ความที่เขาเป็นเมียน้อยของผม ต้องการจะเอาสัญญาไปผลัดผ่อนหนี้กับคุณวิไลที่คุณดวงตะวันเป็นฝ่ายสร้างหนี้สินไว้ ไม่ใช่ว่าผมจะไม่รู้กฎหมาย แต่เห็นแก่ความที่ร่วมเตียงกันมาก่อนจึงยอม” ทั้งนี้จำเลยกระทำโดยประการที่น่าจะให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังรายละเอียดข้อความปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้อง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328

จำเลยให้การปฏิเสธ

นางดวงตะวัน โปษยะจินดา ได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วม

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 ให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา 328จำคุก 1 เดือน และปรับ 2,000 บาท เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขัง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมหรือไม่

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ตรี ที่แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2517 การที่จะวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้ว จากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ข้อความที่โจทก์ร่วมให้หนังสือพิมพ์ดาวสยามลงพิมพ์เกี่ยวกับจำเลยอันเป็นเหตุให้จำเลยเขียนข้อความตามฟ้องลงโฆษณาโต้ตอบนั้น ได้มีข้อความทำนองว่าจำเลยไปแจ้งความเท็จแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจหาว่าโจทก์ร่วมลักทรัพย์ เป็นการพยายามทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง หนี้จำนวนสองแสนบาทเศษจำเลยสร้างขึ้นมาเองโจทก์ร่วมไม่ต้องรับผิดชอบ จำเลยทำผิดสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ร่วมว่าจะทำอะไรเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่โจทก์ร่วมกับจำเลยร่วมกันสร้างจะต้องให้โจทก์ร่วมรับรู้ แม้กระทั่งไปรับเงินสายหนังมาก็ปลอมลายมือโจทก์ร่วม ว่ารับเงินจากจำเลยมาแล้ว และศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยลงโฆษณาหนังสือพิมพ์ว่าโจทก์ร่วมเป็นเมียน้อยของจำเลยทั้ง ๆ ที่จำเลยรู้อยู่ว่าโจทก์ร่วมมีสามีเป็นผลให้สามีโจทก์ร่วมเข้าใจผิด ดังนี้ การที่จำเลยโฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามฟ้อง หาใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม อันเกิดจากการที่โจทก์ร่วมให้หนังสือพิมพ์ดาวสยามลงพิมพ์เกี่ยวกับจำเลยไม่ จำเลยจึงไม่อาจอ้างข้อนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นผิด

พิพากษายืน

Share