แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับจำเลยร่วมให้จำเลยร่วมปลูกอาคารพานิชย์ ตลาดสด อาคารแผงลอยในที่พิพาท เมื่อสร้างเสร็จจำเลยร่วมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ทันที และจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยร่วมเช่าอาคารพานิชย์ 15 ปี อาคารแผงลอย 10 ปี ดังนี้ สัญญาระหว่างจะเลยที่ 1 กับจำเลยร่วมเป็นสัญญาต่างตอบแทนอันก่อให้เกิดบุคคลสิทธิต่อกันเท่านั้น เมื่อศาลฟังว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ถึงแม้จำเลยร่วมจะได้ทำสัญญาดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 โดยสุจริต ก็ไม่มีผลผูกพันโจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่พิพาท โจทก์จึงไม่ต้องรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ซึ่งจำเลยที่ 1 มีต่อจำเลยร่วม จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาออกไปจากที่พิพาทตามคำขอบังคับของโจทก์ แต่ที่โจทก์ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ยนั้น เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมทำสัญญาดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมต่างเข้าใจโดยสุจริตว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมจึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จะขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ไม่ได้
โจทก์ฟ้องว่าเดิมที่พิพาทเป็นของวัดโจทก์ ต่อมาปลัดอำเภอได้แจ้ง ส.ล. 1 ว่าเป็นของทางราชการมาก่อนใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน ทางอำเภอเชื่อ จึงออก ส.ค.1 ให้ ต่อมาเมื่อตั้งสุขาภิบาลขึ้นทางอำเภอได้โอนที่ดินพิพาทให้สุขาภิบาลพังโคนจำเลยครอบครอง จึงขอให้ศาลเพิกถอน ส.ค. 1 และนิติกรรมการรับโอนที่พิพาท โอนที่ดินคืนให้โจทก์ ถ้าไม่ยอมโอนคืนให้ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนั้น ที่โจทก์มีคำขอดังกล่าวก็เพื่อประสงค์ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์นั่นเอง ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ได้ และเมื่อศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์แล้วก็ไม่ต้องเพิกถอน ส.ค.1 และไม่ต้องเพิกถอนนิติกรรมรับโอนที่พิพาทกับโอนที่พิพาทคืนให้โจทก์เพราะการแจ้ง ส.ค.1 ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้แจ้งแต่อย่างใด ทั้งที่พิพาทรายนี้เป็นที่ดินมือเปล่าไม่อาจบังคับให้โอนกันทางทะเบียนได้ ที่พิพาทจึงย่อมกลับเป็นของโจทก์ตามเดิมตามคำพิพากษาดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนายอำเภอพรรณานิคม จำเลยที่ ๒ เป็นปลัดอำเภอหัวหน้ากิ่งอำเภอพังโคน มีตำแหน่งเป็นประธานและรองประธานสุขาภิบาล มีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการของสุขาภิบาลพังโคน วันศรีจอมธาตุเป็นวัดสร้างมานานประมาณ ๑๐๐ กว่าปี มีอาณาเขตเหลือจากทางหลวงแผ่นดินตัดผ่านแล้วรวมเนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๑ งาน ๒๔ ตารางวา ครั้ง พ.ศ.๒๔๙๘ นายโทปลัดอำเภอพรรณานิคมได้แจ้ง ส.ค.๑ ว่าที่ดินซึ่งเป็นของวัดเนื้อที ๒ ไร่ ๑ งาน ๔๔ ตารางวา ปรากฏตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง เป็นของทางราชการมาก่อนใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน ทางอำเภอพรรณานิคมเชื่อจึงออก ส.ค.๑ ให้ ต่อมาเมื่อตั้งสุขาภิบาลพังโคนขึ้นทางราชการอำเภอพังโคนโอนที่ดินพิพาทให้สุขาภิบาลฟังโคนครอบครองต่อมา พ.ศ.๒๕๑๓ สุขาภิบาลพังโคนประกาศประกวดราคาสร้างอาคารพาณิชย์ในที่พิพาท โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านให้ระงับการก่อสร้าง จำเลยไม่ยอม การที่จำเลยบุกรุกเอาไป โจทก์เสียหายเป็นเงินปีละ ๓๙,๖๐๐ บาท ในระหว่างที่จำเลยได้ทราบคำฟ้องและคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลสั่งระงับการก่อสร้าง จำเลยกลับสมคบกันชนเครื่องอุปกรณ์การก่อสร้างเข้าไปในที่พิพาท เข้าขุดหลุม ผูกเหล็ก ตั้งเสาตึกขึ้นในที่พิพาทขอให้ศาลเพิกถอน ส.ค.๑ และนิติกรรมการรับโอนที่พิพาท โอนที่ดินคืนให้โจทก์ ถ้าไม่ยอมโอนคืนให้ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาท โดยให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยทำขึ้นในที่พิพาททั้งหมดขนย้ายออกไป เกลี่ยดินกลบหลุมที่จำเลยชุดให้เรียบร้อยคงคืนสภาพเดิมห้ามจำเลยกับบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องในที่พิพาทอีกต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ปีละ ๓๙,๖๐๐ บาท เริ่มแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๓ เป็นต้นไป พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อไปจนกว่าชำระเสร็จ
ก่อนจำเลยยื่นคำให้การ ห้างหุ้นส่วนจำกัดขอนแก่นสหพัฒนายื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตาประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา ๕๗ (๒)
จำเลยร่วมให้การว่า วัดศรีจอมธาตุเพิ่งตั้งมาประมาณ ๔๐ ปี โดยเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ ขุนศรีปทุมวงศ์กับนายเชียงพาได้อุทิศที่ดินคนละส่วนสร้างวัดศรีจอมธาตุขึ้น เดิมที่พิพาทเป็นของนายพา เมื่อพ.ศ.๒๔๖๘ นายพาขายให้ขุนศรีปทุมวงศ์ ซึ่งขณะนั้นรับราชการเป็นปลดอำเภอวานรนิวาส เมื่อพ.ศ.๒๔๗๒ ขุนศรีปทุมวงศ์ได้ยกที่พิพาทให้ทางราชการมหาดไทยอำเภอพรรณานิคมเพื่อใช้เป็นที่สาธารณประโยชน์ กระทรวงมหาดไทยขึ้นทะเบียนไว้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ นายโทปลัดอำเภอพรรณานิคมได้แจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ หมู่บ้านพังโคนได้ยกฐานะขึ้นเป็นสุขาภิบาลพังโคน ๆ ได้รับโอนที่ดินพิพาทมาและครอบครองจัดหาผลประโยชน์ เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๑๓ จำเลยร่วมได้ทำสัญญากับจำเลยเพื่อให้จำเลยร่วมปลูกอาคารพาณิชย์ ตลาดสด อาคารแผงลอยและสิ่งอื่น ๆ เมื่อสร้างเสร็จยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทันที จำเลยยอมให้จำเลยร่วมเช่าอาคารพาณิชย์ ๑๕ ปี อาคารแผงลอย ๑๐ ปี โดยจำเลยร่วมเสียค่าตอบแทนการใช้ที่ดิน ๒ แปลง ๙,๐๐๐ บาท เสียค่าเช่าอาคารพาณิชย์คูหาละ ๑๕๐ บาทต่อเดือน อาคารแผงลอยคูหาละ ๗๐ บาทต่อเดือน จำเลยยอมให้จำเลยร่วมนำอาคารทั้งหมดไปหาผลประโยชน์ จากการเช่าช่วงได้ เป็นการทำสัญญากันโดยสุจริต แม้ศาลจะชี้ขาดว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ก็ไม่อาจกระทบกระทั่งกับสิทธิของจำเลยร่วม อันเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิตามสัญญา โจทก์ย่อมรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ซึ่งจำเลยมีต่อผู้ร้องสอด
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า โจทก์มุ่งฟ้องสุขาภิบาลพังโคนเท่านั้น ไม่ปรากฏในฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นปลัดอำเภอหัวหน้ากิ่งอำเภอพังโคนได้ร่วมบุกรุกด้วย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ จำเลยให้การต่อไปว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยทำนองเดียวกับที่จำเลยร่วมให้การ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่พิพาทเป็นของโจทก์มาก่อน ขุนศรีปทุมวงศ์ยกที่พิพาทให้ทางราชการมหาดไทยโดยไม่มีสิทธิยกให้ ทางราชการมหาดไทยไม่ได้สิทธิครอบครอง สุขาภิบาลพังโคนรับโอนต่อมาก็ไม่ได้สิทธิครอบครองอีกเช่นกัน
และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยร่วมให้การต่อสู้คดีว่า เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๑๓ (โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๓) จำเลยร่วมได้เข้าหาสัญญากับจำเลยเพื่อให้จำเลยร่วมปลูกอาคารพาณิชย์ ตลาดสด อาคารแผงลอย เมื่อสร้างเสร็จยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทันทีและจำยอมให้จำเลยร่วมเช่าอาคารพาณิชย์ ๑๕ ปี อาคารแผงลอย ๑๐ ปี เป็นการทำสัญญากันโดยสุจริต แม้ศาลจะชี้ขาดว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์ย่อมรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ซึ่งจำเลยมีต่อจำเลยร่วมนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าสัญญาระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยร่วมเป็นสัญญาต่างตอบแทนอันก่อให้เกิดบุคคลสิทธิต่อกันเท่านั้น เมื่อศาลฟังว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ถึงแม้จำเลยร่วมจะได้ทำสัญญาดังกล่าวกับจำเลยที่ ๑ โดยสุจริต ก็ไม่มีผลผูกพันโจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่พิพาท โจทก์จึงไม่ต้องรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ซึ่งจำเลยที่ ๑ มีต่อจำเลยร่วม จำเลยที่ ๑ และจำเลยร่วมจึงต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาทตามคำขอบังคับของโจทก์ ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายปีละ ๓๙,๖๐๐ บาท ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๓ เป็นต้นไปพร้อมด้วยดอกเบี้ยนั้น ตามทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ ๑ และจำเลยร่วมทำสัญญาดังกล่าวโดยจำเลยที่ ๑ และจำเลยร่วมต่างเข้าใจโดยสุจริตว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ ๑ การกระทำของจำเลยที่ ๑ และจำเลยร่วมจึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จะขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ไม่ได้ส่วนที่โจทก์ขอให้ศาลเพิกถอน ส.ค.๑ และนิติกรรมการรับโอนที่พิพาท โอนที่ดินคืนให้โจทก์ ถ้าไม่ยอมโอนคืนให้ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนั้น ที่โจทก์มีคำขอเช่นนี้ก็เพื่อประสงค์ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์นั่นเอง ศาลจึงพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ได้ และเมื่อศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์แล้ว ก็ไม่จำต้องเพิกถอน ส.ค.๑ รายพิพาท เพราะการแจ้ง ส.ค.๑ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้แจ้งแต่อย่างใด ทั้งที่พิพาทรายนี้เป็นที่ดินมือเปล่าไม่อาจบังคับให้โอนกันทางทะเบียนได้ เมื่อศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์แล้ว ที่พิพาทก็กลับเป็นของโจทก์ตามเดิม จึงไม่ต้องเพิกถอนนิติกรรมรับโอนที่พิพาทและโอนที่พิพาทคืนให้โจทก์
พิพากษาแก้คำพิพากษาอุทธรณ์เป็นว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ให้ขับไล่จำเลยที่ ๑ และจำเลยร่วมออกจากที่พิพาทโดยให้ร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาทและทำที่ดินให้เป็นไปตามเดิม ห้ามจำเลยที่ ๑ กับบริวารไปเกี่ยวข้องกับที่พิพาทอีกต่อไป คำขออื่นให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.