แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าได้ติดต่อขอไถ่จำนองจากจำเลยที่1และที่2และได้นำต้นเงินกู้ยืมไปวางไว้ณสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์และแจ้งให้จำเลยทราบแล้วตามใบเสร็จรับเงินซึ่งตามรายการวางทรัพย์เมื่อคำนวณแล้วจะเป็นต้นเงินและรวมดอกเบี้ยค้างชำระ5ปีพอดีย่อมแสดงว่าโจทก์ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในเรื่องดอกเบี้ยให้ปรากฎอยู่ในคำฟ้องแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา189(เดิม)ผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับจากทรัพย์สินที่จำนองได้แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตามแต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน5ปีขึ้นไปไม่ได้เมื่อโจทก์ยกอายุความเรียกดอกเบี้ยขึ้นต่อสู้แล้วจำเลยที่2ในฐานะผู้จัดการมรดกของอ. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เงินกู้และผู้รับจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันจะเรียกดอกเบี้ยจากโจทก์เกิน5ปีไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2506 โจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินจากนายอำพร จำนวน17,000 บาท โจทก์เคยติดต่อขอไถ่จำนองกับนายอำพร แต่นายอำพรเพิกเฉยจนกระทั่งเสียชีวิตวันที่ 24 ธันวาคม 2528 โจทก์ติดต่อขอไถ่จำนองกับจำเลยที่ 1 ภริยา และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทของนายอำพร แต่จำเลยทั้งสองก็เพิกเฉย เมื่อประมาณ 2 ปีมาแล้ว โจทก์ได้นำต้นเงินกู้ยืมไปวาง ณ สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา และแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบและจดทะเบียนไถ่จำนอง แต่จำเลยทั้งสองก็เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนไถ่จำนองที่ดินพิพาทและรับเงินจำนวน 17,000 บาท และคืนหนังสือตราจองเลขที่ 69 ให้แก่โจทก์หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยานายอำพรจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนายอำพรและเป็นผู้จัดการมรดกของนายอำพรตามคำสั่งศาล จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องสัญญาจำนองที่ดินพิพาทเป็นสัญญาจำนองประกันการกู้ยืมเงินการไถ่จำนองจะต้องนำเงินต้น 17,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญาจนถึงวันที่โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยทั้งสองเสร็จ การที่โจทก์ขอชำระต้นเงินเพียง 17,000บาท จึงเป็นการไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอำพร รับชำระหนี้จำนวน 17,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน2506 จนกว่าโจทก์จะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 (ที่ถูกคือจำเลยที่ 2)ไปจดทะเบียนไถ่จำนองที่ดินตราจองเลขที่ 69 หน้า 69 ตำบลบ้านช่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา หากจำเลยที่ 2รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้วไม่ไปจดทะเบียนไถ่จำนองให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 รับชำระหนี้จำนวน 29,750 บาท ที่โจทก์วาง ณ สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2มีว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าตามคำฟ้องโจทก์ได้ยกอายุความเรื่องดอกเบี้ยขึ้นต่อสู้แล้วชอบหรือไม่ และดอกเบี้ยที่โจทก์ต้องรับผิดมีเพียงใด ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าในคำฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า โจทก์ได้ยกอายุความเรื่องดอกเบี้ยขึ้นต่อสู้ไว้ แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องถือว่าโจทก์ได้ยกอายุความเรื่องดอกเบี้ยขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้แล้ว คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายว่าได้ติดต่อขอไถ่จำนองจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 และได้นำต้นเงินกู้ยืมไปวางไว้ ณ สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา และแจ้งให้จำเลยทราบแล้ว ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ซึ่งมีรายการวางทรัพย์จำนวนเงิน 29,750 บาท นั้นเมื่อคำนวณแล้วจะเป็นต้นเงิน 17,000 บาท และดอกเบี้ยค้างชำระ5 ปี เป็นเงิน 12,750 บาท พอดี ย่อมแสดงว่าโจทก์ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในเรื่องดอกเบี้ยให้ปรากฎอยู่บนคำฟ้องแล้ว สำหรับที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยจนถึงวันชำระเสร็จนั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 189 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับจากทรัพย์สินที่จำนองได้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ เมื่อคดีได้ความจากการวินิจฉัยมาแล้วว่าโจทก์ได้ยกอายุความเรียกดอกเบี้ยขึ้นต่อสู้แล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอำพรซึ่งเป็นเจ้าหนี้เงินกู้และผู้รับจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันจะเรียกดอกเบี้ยจากโจทก์เกิน 5 ปี ไม่ได้
พิพากษายืน