แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอมตามข้อตกลง หากจดทะเบียนไม่ได้ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ 200,000 บาท เป็นการฟ้องให้ปฏิบัติตามสัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งภาระจำยอม ภาระจำยอมซึ่งเป็นสิทธิที่โจทก์อ้างว่าตกลงกับจำเลยเพื่อให้ได้มาดังกล่าวย่อมอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ถือได้ว่าเป็นคดีปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ซึ่งมีทุนทรัพย์ขณะยื่นคำฟ้องไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอม หากจดทะเบียนไม่ได้ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 108,000 บาท คดีจึงมีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาสำหรับจำเลยไม่เกิน 200,000 บาท
ฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยไม่ได้ตกลงให้โจทก์ทำถนนในทางพิพาท โดยจำเลยตกลงจะไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอม ค่าเสียหายของโจทก์มีจำนวนน้อยกว่า 100,000 บาท เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและฎีกาของจำเลยที่ว่าโจทก์ถมดินในทางพิพาทเพื่อประโยชน์ของตนเอง แล้วนำคดีมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต เป็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า จำเลยได้ตกลงให้โจทก์ถมดินในทางพิพาทโดยจำเลยจะไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมให้จริงหรือไม่ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยฎีกาเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาจำเลยทุกข้อจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคแรก กำหนดให้การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิที่มิได้ทำหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจใช้ยันและไม่อาจบังคับบุคคลภายนอกที่มิได้เป็นคู่สัญญาเท่านั้น มิได้เป็นการกำหนดให้นิติกรรมนั้นในส่วนที่เป็นบุคคลสิทธิตกเป็นโมฆะเสียเปล่าไป นิติกรรมดังกล่าวจึงยังคงมีผลผูกพันบังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญา ดังนั้น แม้จะได้ความว่า ข้อตกลงเรื่องภาระจำยอมระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นข้อตกลงที่มิได้จดทะเบียนไว้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ใช้บังคับกันได้ในระหว่างโจทก์กับจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 47979 ซึ่งมีเขตติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 47977 ของจำเลย เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540 โจทก์ทั้งสองกับจำเลยได้ตกลงทำถนนในที่ดินของโจทก์ทั้งสองและจำเลยส่วนที่มีเขตติดต่อกันโดยให้โจทก์ทั้งสองนำดินไปถมเป็นถนนในที่ดินของโจทก์ทั้งสองและจำเลยกว้างแปลงละ 3 เมตร จากหลักเขตที่ดินเลขที่ 4848 ถึงหลักเขตที่ดินเลขที่ 5594 เพื่อใช้เป็นทางร่วมกันและตกลงกันว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยจะไปทำการจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่กัน ต่อมาโจทก์ทั้งสองได้ถมดินเป็นถนนจนเสร็จตามที่ตกลงกัน ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการถมดินส่วนที่ดินของจำเลยเป็นเงิน 200,000 บาท แต่จำเลยกลับนำก้อนหินใหญ่ไปปิดกั้นถนนในส่วนที่ดินของจำเลย ทำให้โจทก์ทั้งสองไม่สามารถใช้ถนนที่ทำขึ้นได้ ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 47977 ตำบลบางมด อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร จากหลักเขตที่ดินเลขที่ 4848 ถึงหลักเขตที่ดินเลขที่ 5594 กว้าง 3 เมตร ตกเป็นภาระจำยอมของที่ดินโฉนดเลขที่ 47979 ตำบลบางมด อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และถ้าไม่สามารถจดทะเบียนภาระจำยอมได้ ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยตกลงกับโจทก์ทั้งสองหรือตัวแทนให้ทำการถมดินเพื่อทำเป็นถนนในที่ดินของโจทก์ทั้งสองและจำเลย ทั้งจำเลยไม่เคยตกลงที่จะจดทะเบียนภาระจำยอมระหว่างที่ดินของจำเลยและที่ดินของโจทก์ทั้งสองให้แก่กันตามฟ้อง แต่ในวันที่ 6 มิถุนายน 2540 โจทก์ทั้งสองโดยนางแน่งน้อย เจริญรัตนกุล ได้ทำการถมดินในที่ดินของโจทก์ทั้งสองติดต่อกับที่ดินของจำเลยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาตประกอบกับจำเลยได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นไปแล้วก่อนที่จำเลยจะทราบคำฟ้องของโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยถึงแก่ความตาย นายชนินทร์ ศรีคล้อย ทายาทของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 47977 ตำบลบางมด อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร จากหลักเขตที่ดินเลขที่ 4848 ถึงหลักเขตที่ดินเลขที่ 5594 กว้าง 3 เมตร เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 47979 ตำบลบางมด อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ทั้งสอง หากจำเลยไม่จดทะเบียนภาระจำยอมดังกล่าวให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ถ้าจำเลยไม่อาจจดทะเบียนภาระจำยอมนั้นให้โจทก์ได้ ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 108,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 20 สิงหาคม 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอมตามข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลย หากจดทะเบียนไม่ได้ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 200,000 บาท เป็นการฟ้องให้ปฏิบัติตามสัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งภาระจำยอม ภาระจำยอมซึ่งเป็นสิทธิที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าตกลงกับจำเลยเพื่อให้ได้มาดังกล่าวย่อมอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่โจทก์ใช้ทางอื่นออกสู่ถนนสาธารณะได้อยู่แล้วและจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์ขอให้จำเลยชดใช้แทนในกรณีที่ไม่อาจจดทะเบียนภาระจำยอมได้ ซึ่งโจทก์ขอเป็นเงินเพียง 200,000 บาท ย่อมถือได้ว่าคดีนี้เป็นคดีปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ซึ่งมีทุนทรัพย์ขณะยื่นคำฟ้องไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอมตามฟ้อง หากจดทะเบียนไม่ได้ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 108,000 บาท คดีจึงมีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาสำหรับจำเลยตาจำนวนเงินค่าเสียหายที่กำหนดตามคำพิพากษาดังกล่าวไม่เกิน 200,000 บาท ที่จำเลยฎีกาในปัญหาว่า จำเลยไม่ได้ตกลงให้โจทก์ทั้งสองทำถนนในทางพิพาท โดยจำเลยตกลงจะไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอม ค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองมีจำนวนน้อยกว่า 100,000 บาท เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงในปัญหาดังกล่าว เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ทั้งสองถมดินในทางพิพาทเพื่อประโยชน์ของตนเอง แล้วนำคดีมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต เป็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสียก่อนว่าจำเลยได้ตกลงให้โจทก์ทั้งสองถมดินในทางพิพาทโดยจำเลยจะไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมให้จริงหรือไม่ ฎีกาจำเลยข้อนี้จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยฎีกาอ้าง ฎีกาจำเลยทุกข้อดังกล่าวจึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยเพียงข้อเดียวว่า ข้อตกลงเรื่องภาระจำยอมตามฟ้องระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยมีผลบังคับหรือไม่ จำเลยฎีกาในปัญหานี้ว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มิได้มีการจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคแรก เห็นว่า ตามบทกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิที่มิได้ทำหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจใช้ยันและไม่อาจบังคับบุคคลภายนอกที่มิได้เป็นคู่สัญญาเท่านั้น มิได้เป็นการกำหนดให้นิติกรรมนั้น ในส่วนที่เป็นบุคคลสิทธิตกเป็นโมฆะเสียเปล่าไป นิติกรรมดังกล่าวจึงยังคงมีผลผูกพันบังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญา ดังนั้น แม้จะได้ความว่า ข้อตกลงเรื่องภาระจำยอมตามฟ้องระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเป็นข้อตกลงที่มิได้จดทะเบียนไว้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่จำเลยฎีกาข้อตกลงดังกล่าวก็ใช้บังคับกันได้ในระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองไม่ได้แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้