คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2537/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ไม่มีอาวุธปืนใด ๆ ติดตัวมาเลยและขณะจำเลยที่ 1 กับพวกใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและกระชากเอาสร้อยคอทองคำไปจากผู้ตาย จำเลยที่ 2 จะยืนอยู่เฉย ๆ ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 2 มายังที่เกิดเหตุพร้อมกับจำเลยที่ 1 กับพวก เมื่อจำเลยที่ 1 กับพวกใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและกระชากสร้อยคอทองคำที่ผู้ตายสวมอยู่ไปได้แล้ว จำเลยที่ 2 วิ่งหนีไปพร้อมกับจำเลยที่ 1กับพวก ประกอบกับคดีฟังได้ตามคำให้การชั้นสอบสวนว่าขณะจำเลยที่ 1กับพวกปรึกษากันเรื่องจะปล้นทรัพย์ผู้ตาย จำเลยที่ 2 ก็นั่งฟังอยู่ด้วย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ ขณะจำเลยที่ 1 กับพวกใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายนั้น จำเลยที่ 2ยืนเฉย ๆ มิได้พูดหรือกระทำการใด ๆ อันจะถือได้ว่าเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 กับพวกในการฆ่าผู้ตายเลย จำเลยที่ 1กับพวกตัดสินใจใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายไปตามลำพังและโดยฉับพลันในขณะนั้นเอง จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1กับพวก ฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกับพวกร่วมกันมีอาวุธปืนปล้นทรัพย์และใช้อาวุธปืนยิงเจ้าทรัพย์โดยเจตนาและไตร่ตรองจำเลยที่ 1 รับสารภาพ จำเลยที่ 2 ปฏิเสธ ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ให้ประหารชีวิต ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 50 ปี จำเลยที่ 2 จำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกับพวก ได้ร่วมกันปล้นสร้อยคอทองคำหนัก 10 บาทของผู้ตายไป ในการปล้นทรัพย์นี้จำเลยที่ 1 กับพวกอีก 1 คนใช้อาวุธปืนที่มีติดตัวมายิงผู้ตายโดยเจตนาฆ่า ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลที่ถูกยิง และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ว่า”แม้ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ไม่มีอาวุธปืนใด ๆ ติดตัวมาเลยเพียงแต่เข้าไปยืนอยู่ด้านหลังเขียงของผู้ตายใกล้ผู้ตาย และขณะจำเลยที่ 1 กับพวกใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและกระชากเอาสร้อยคอทองคำไปจากผู้ตาย จำเลยที่ 2 จะยืนอยู่เฉย ๆ ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 2มายังที่เกิดเหตุพร้อมกับจำเลยที่ 1 กับพวก จำเลยที่ 1 กับพวกอีก 2 คน มาหยุดยืนด้านหน้าเขียงของผู้ตาย ส่วนจำเลยที่ 2 หยุดยืนทางด้านหลังเขียงใกล้ผู้ตาย เมื่อจำเลยที่ 1 กับพวกใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและกระชากสร้อยคอทองคำที่ผู้ตายสวมอยู่ไปได้แล้วจำเลยที่ 2 ก็ได้วิ่งหนีไปพร้อมกับจำเลยที่ 1 กับพวกดังกล่าว ประกอบกับคดีฟังได้ตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และของที่ 2ตามเอกสารหมาย ป.จ.3 และ ป.จ.4 ตามลำดับว่า จำเลยที่ 1 กับพวกมีเจตนาปล้นทรัพย์ผู้ตาย เพื่อเอาสร้อยคอทองคำของผู้ตายไปขายเอาเงินไปให้พวกของจำเลยที่ 1 กับพวกที่กำลังมีความจำเป็นต้องใช้เงิน และขณะจำเลยที่ 1 กับพวกปรึกษากันเรื่องจะปล้นทรัพย์ผู้ตาย จำเลยที่ 2 ก็นั่งฟังอยู่ด้วยแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ ส่วนข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาอันมีเหตุฉกรรจ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 นั้น โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานให้เห็นว่าคนร้ายรายนี้มีเจตนาจะฆ่าผู้ตายมาก่อนกลับได้ความจากคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 และของจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย ป.จ. 3 และป.จ. 4 ตามลำดับว่า มีเจตนาจะหาเงินไปช่วยเพื่อนที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินเท่านั้น ขณะจำเลยที่ 1 กับพวกอีก 1 คนใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายนั้น จำเลยที่ 2 ก็ได้ยืนเฉย ๆ มิได้พูดหรือกระทำการใด ๆอันจะถือได้ว่าเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 กับพวกคนนั้นในการฆ่าผู้ตายเลย จำเลยที่ 1 กับพวกคนนั้นตัดสินใจใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายไปตามลำพังและโดยฉับพลันในขณะนั้นเอง จำเลยที่ 2จึงไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาอันมีเหตุฉกรรจ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทว่าจำเลยที่ 2มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ด้วย จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ส่วนที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทว่าจำเลยที่ 1มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 โดยมิได้ระบุอนุมาตรานั้นศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 289 มีหลายอนุมาตรา แต่ละอนุมาตรามีองค์ประกอบความผิดไม่เหมือนกัน เมื่อข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความเข้าลักษณะอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามอนุมาตราใดของมาตรา 289 ก็ชอบที่ศาลจะระบุอนุมาตรานั้น ๆ ไว้ด้วย คดีนี้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายเพื่อความสะดวกในการที่จะปล้นเอาสร้อยคอทองคำของผู้ตายไปจึงต้องปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(6)และที่ศาลล่างทั้งสองสั่งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำหนัก 10 บาท ราคา 44,000 บาท แก่เจ้าของนั้นปรากฏว่าผู้เป็นเจ้าของสร้อยคอดังกล่าวถึงแก่ความตายแล้วศาลฎีกาเห็นควรแก้เสียให้ชัดเจน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(6) และมาตรา 340 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรีการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายสองบทที่มีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามมาตรา 340 วรรคท้ายประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา340 วรรคท้าย ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำหนัก 10 บาท ราคา 44,000 บาท แก่ผู้มีสิทธิตามกฎหมาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share