คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2537/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติป่าไม้ มาตรา 73 เป็นบทลงโทษของมาตรา 48 เมื่อจำเลยไม่มีความผิดตามมาตรา 48 แล้ว จะลงโทษตามมาตรา 73 ไม่ได้มาตรา 73 วรรคสอง ข้อ (1) เป็นบทบัญญัติที่ให้ลงโทษหนักขึ้นสำหรับความผิดที่เกี่ยวกับไม้สัก ไม้ยาง หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. แต่ในกรณีที่เป็นไม้ยางหรือไม้หวงห้ามประเภท ข.ที่ไม่ใช่ไม้สักแล้วจะต้องมีปริมาตรไม้เป็นจำนวนเกินกว่า 0.20 ลูกบาศก์เมตร ผู้กระทำจึงจะต้องรับโทษหนักขึ้นตามบทกฎหมายดังกล่าว คดีนี้จำเลยเพียงมีไม้ยางแปรรูปปริมาตรไม่เกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตรจำเลยย่อมไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 73 วรรคสอง ข้อ (1) แม้เมื่อรวมกับไม้ตะเคียนหินแปรรูปซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก.แล้วจะมีปริมาตรเกินกว่า 0.20 ลูกบาศก์เมตรก็ตาม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไม้ตะเคียนหินแปรรูปจำนวน ๒๔ แผ่น ปริมาตร ๐.๓๗ ลูกบาศก์เมตร และไม้ยางแปรรูป จำนวน ๒๐ แผ่น ปริมาตร ๐.๐๙ ลูกบาศก์เมตร รวมไม้ทั้งสิ้น ๔๔ แผ่น ปริมาตร ๐.๔๖ ลูกบาศก์เมตรซึ่งเกินกว่า ๐.๐๒ ลูกบาศก์เมตร และเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก.ไว้ในความครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗, ๔๘, ๗๓, ๗๔ ที่แก้ไขแล้ว พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๔ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ และให้ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษปรับคนละ ๒,๐๐๐ บาท ของกลางให้ริบ
โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยทั้งสองต่ำกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๗๓ เป็นบทลงโทษของมาตรา ๔๘ ถ้าหากจำเลยไม่มีความผิดตาม มาตรา ๔๘ แล้ว ย่อมจะลงโทษตามมาตรา ๗๓ นี้ไม่ได้ กรณีที่จะเป็นความผิดตามมาตรา ๔๘ นั้น ไม้หวงห้ามแปรรูปที่มีไว้ในครอบครองจะต้องมีปริมาตรเป็นจำนวนเกินกว่า ๐.๒๐ ลูกบาศก์เมตรเว้นแต่ไม้สักเพียงอย่างเดียว ที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดทั้งสิ้น ไม่ว่าไม้สักที่มีนั้นจะมีปริมาตรจำนวนเท่าใด ส่วนมาตรา ๗๓ วรรคสอง (๑) เป็นบทบัญญัติที่ให้ลงโทษหนักขึ้นสำหรับความผิดที่เกี่ยวกับไม้สัก ไม้ยาง หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. แต่ในกรณีที่เป็นไม้ยาง หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. ที่มิใช่ไม้สักแล้ว จะต้องมีปริมาตรไม้เป็นจำนวนเกิน ๐.๒๐ ลูกบาศก์เมตร ผู้กระทำจึงจะได้รับโทษหนักขึ้นตามบทบัญญัติมาตรา ๗๓ วรรคสอง (๑) นี้ เพราะการมีไม้ยางแปรรูปเพียงอย่างเดียวและมีปริมาตรไม้ไม่เกิน ๐.๒๐ ลูกบาศก์เมตร ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๔๘ คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไม้ตะเคียนหินแปรรูปซึ่ง เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ปริมาตร ๐.๓๗ ลูกบาศก์เมตร กับมีไม้ยางแปรรูปปริมาตร ๐.๐๙ ลูกบาศก์เมตรไว้ในครอบครอง รวมเป็นปริมาตรไม้ทั้งสิ้น ๐.๔๖ ลูกบาศก์เมตร หากจำเลยมีแต่เพียงไม้ยางอย่างเดียวปริมาตรไม่เกิน ๐.๒๐ ลูกบาศก์เมตร จำเลยย่อมจะไม่มีความผิดตามมาตรา ๔๘ เลย การที่จำเลยมีไม้หวงห้ามแปรรูปประเภท ก. คือ ไม้ตะเคียนหินรวมเข้าด้วย ทำให้ปริมาตรไม้ทั้งหมดเกิน ๐.๒๐ ลูกบาศก์เมตร หาทำให้การกระทำของจำเลยต้องได้รับโทษหนักขึ้นตามมาตรา ๗๓ วรรคสอง (๑) ไม่ คงลงโทษจำเลยได้ตามมาตรา ๗๓ วรรคแรกเท่านั้น
พิพากษายืน.

Share