แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้ามรดกถึงแก่กรรม ว. ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาลโจทก์ซึ่งเป็นภรรยาของเจ้ามรดกได้เบิกความในคดีดังกล่าวว่า หากโจทก์มีส่วนได้รับมรดกโจทก์ก็เอา หรือจะให้แก่บุตรโจทก์ก็แล้วแต่ผู้จัดการมรดกเห็นสมควร การที่โจทก์เบิกความดังกล่าวไม่เป็นการสละมรดกเพราะคำเบิกความดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบ ไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 แต่เป็นเพียงคำพูดแนะนำผู้จัดการมรดกตามมารยาทเท่านั้น ว. เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล แต่ยังจัดการมรดกไม่เสร็จก็ตายเสียก่อน จำเลยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกแทนและยังจัดการไม่เสร็จ โจทก์ซึ่งเป็นทายาทก็ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกเป็นคดีนี้ การที่ ว. ก็ดี จำเลยก็ดีซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกในระหว่างจัดการ ถือว่าครอบครองแทนทายาท มีหน้าที่ต้องแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาทถือได้ว่าทายาทได้ครอบครองทรัพย์มรดกแล้วตราบเท่าที่ยังอยู่ในระหว่างจัดการมรดกฉะนั้น คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ (อ้างฎีกาที่ 1589/2509) ข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้คู่ความยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาได้แม้จะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 นั้นจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบส่วนข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานนอกประเด็นไม่เกี่ยวกับที่คู่ความจะต้องนำสืบศาลจะรับฟังมาวินิจฉัยไม่ได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงนอกกระบวนพิจารณาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (อ้างฎีกาที่1211/2492)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาชอบด้วยกฎหมายของนายเดือน บุนนาคนายเดือนถึงแก่กรรม นางวันได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก ยังจัดการมรดกไม่เสร็จนางวันก็ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของนายเดือนแทนจำเลยที่ 1 กระทำโดยสุจริต ร้องต่อศาลว่าจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินของกองมรดก 5 โฉนด ศาลได้สั่งว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ และจำเลยที่ 1 ยังได้นำที่ดินกองมรดกอีกแปลงหนึ่งไปแบ่งกันในระหว่างจำเลย จึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนแบ่งที่ดินระหว่างจำเลยกับเพิกถอนคำสั่งของศาลที่สั่งแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์นั้นเสีย แล้วให้จัดแบ่งที่ดินกองมรดกแก่โจทก์ตามส่วนที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับ
โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ให้การว่า โจทก์ได้ทิ้งร้างกับนายเดือนไปหลายสิบปีแล้ว จึงไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่ง ที่ดินที่จำเลยได้รับส่วนแบ่งนั้นไม่ใช่สินสมรสระหว่างนายเดือนกับโจทก์ ส่วนที่ดินที่จำเลยที่ 1 ครอบครองปรปักษ์นายเดือนได้ยกให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ครอบครองอย่างเจ้าของมากว่า 10 ปี ทั้งโจทก์ได้สละมรดกของนายเดือนแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
นางดวงแข วิโรจน์เพ็ชร์ ร้องสอดว่า ผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายเดือนกับโจทก์ มีสิทธได้รับส่วนแบ่งจากกองมรดกของนายเดือน จึงร้องสอดเข้ามา เพื่อขอรับส่วนแบ่ง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ให้การแก้คำร้องสอดว่า ผู้ร้องได้รับส่วนแบ่งมรดกไปแล้ว ส่วนที่ดินที่จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองปรปักษ์นั้น ไม่ใช่ทรัพย์มรดก ขอให้ยกคำร้องสอด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินตามฟ้องแก่โจทก์และผู้ร้องสอด
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์สละมรดกรายนี้แล้วโดยโจทก์เบิกความเป็นพยานในคดีหมายเลขแดงที่ 4812/2509 ของศาลแพ่งว่า “หากโจทก์” มีส่วนได้รับมรดกโจทก์ก็เอา หรือจะให้แก่บุตรโจทก์ก็แล้วแต่นางวัน จักษุรักษ์ คณิตวิจารณ์ เห็นสมควร” คำเบิกความดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำเป็นหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 เป็นเพียงคำพูดแนะนำผู้จัดการตามมารยาทเท่านั้นหามีผลเป็นการสละมรดกตามกฎหมายแต่ประการใดไม่ ฟังไม่ได้ว่าโจทก์สละมรดกรายนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ตามฎีกาข้อ 3(6) ที่ว่าคดีของโจทก์และผู้ร้องสอดขาดอายุความแล้วหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบฟังได้ว่า เมื่อนายเดือน บุนนาคถึงแก่กรรมนางวัน จักษุรักษ์หรือคณิตวิจารณ์เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ระหว่างที่จัดการมรดกยังไม่เสร็จผู้จัดการมรดกตายไป จำเลยที่ 1 เข้าเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งต่ออีก และยังจัดการไม่เสร็จมาฟ้องคดีนี้ การที่ผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกในระหว่างที่จัดการทรัพย์สินถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาท ต้องแบ่งมรดกแก่ทายาท ถือได้ว่าทายาทได้ครอบครองทรัพย์มรดกแล้วตราบที่ยังอยู่ระหว่างจัดการมรดก คดีจึงไม่ขาดอายุความ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1589/2509 ระหว่างนางศรีนวล ทวาทศิน โจทก์ นางคำใสทวาทศิน จำเลย
ตามฎีกาข้อ 3(8) และ (4) ตอนท้าย ที่จำเลยโต้แย้งเรื่องจำนวนทายาทและอัตราส่วนแบ่งมรดกนั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวจำเลยมิได้ตั้งประเด็นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ในวันชี้สองสถานศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเป็นประเด็นพิพาทไว้จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ที่จำเลยอ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวดัวยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยมีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างได้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลจะยกขึ้นตัดสินได้นั้น จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ส่วนข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานนอกประเด็นไม่เกี่ยวกับที่คู่ความจะต้องนำสืบ ศาลจะรับฟังมาวินิจฉัยไม่ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงนอกกระบวนพิจารณาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 เมื่อเรื่องจำนวนทายาทและอัตราส่วนแบ่งมรดกที่จำเลยยกขึ้นฎีกานี้ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่คู่ความจะต้องนำสืบในประเด็นแห่งคดีแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ดังนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1121/2492 ระหว่างนายเพลิน ฯ โจทก์ ขุนผสมทรัพย์สมาน กับพวก จำเลย
พิพากษายืน