คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2531/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นที่ยังไม่ได้จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นจะนำมาใช้ยันแก่บริษัทไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสามนั้น หมายถึงกรณีที่ผู้โอนและผู้รับโอนโอนหุ้นกันเองโดยบริษัทมิได้ร่วมรู้เห็นอยู่ด้วยกฎหมายจึงบัญญัติให้ถือตามที่ปรากฏอยู่ในทะเบียนผู้ถือหุ้น
ขณะโอนขายหุ้นกัน ส. ผู้รับโอนเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลย แม้ ส. จะรับโอนหุ้นไว้ในฐานะส่วนตัวก็ต้องถือว่าบริษัทจำเลยร่วมรู้เห็นและยินยอมให้มีการโอนหุ้นแล้ว บริษัทจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นโดยไม่จำต้องให้ผู้โอนหรือผู้รับโอนคนหนึ่งคนใดแจ้งให้ดำเนินการอีก การที่บริษัทจำเลยไม่ดำเนินการจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นจึงเป็นความผิดของบริษัทจำเลยเอง นอกจากนี้ยังเป็นที่เห็นได้ว่า การที่บริษัทจำเลยมีหน้าที่จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นแต่กลับละเลยเพิกเฉยไม่จดแจ้งการโอนแล้วจะกลับมายกเหตุที่ไม่มีการจดแจ้งการโอนขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้โอนรับผิดเช่นนี้ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 อีกด้วย บริษัทจำเลยหรือผู้คัดค้านจะเรียกให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นที่ยังค้างชำระโดยอ้างเหตุว่าการโอนหุ้นไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสาม ไม่ได้
ป.พ.พ. มาตรา 1133 เกี่ยวกับความรับผิดของผู้โอนหุ้นสำหรับจำนวนเงินที่ยังส่งใช้ไม่ครบตามมูลค่าของหุ้นที่โอนนั้น หมายถึงความรับผิดต่อเจ้าหนี้ของบริษัทที่ผู้โอนเคยถือหุ้นอยู่ หาได้หมายถึงว่าผู้โอนยังจะต้องรับผิดต่อบริษัทในเงินค่าหุ้นซึ่งตนยังส่งใช้ไม่ครบแม้จะได้โอนหุ้นดังกล่าวไปแล้วแต่อย่างใดไม่ ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติใน (1) และ (2) ที่ให้รับผิดเฉพาะในหนี้ของบริษัทซึ่งได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนโอน และให้รับผิดต่อเมื่อผู้ที่ยังถือหุ้นอยู่นั้นไม่สามารถออกส่วนใช้หนี้อันเขาจะพึงต้องออกใช้นั้นได้ ซึ่งแสดงถึงความเกี่ยวพันระหว่างเจ้าหนี้ของบริษัทกับผู้ถือหุ้นของบริษัทโดยเฉพาะ ฉะนั้นคดีนี้จึงไม่ใช่กรณีที่บริษัทจำเลยมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ อันผู้คัดค้านจะเรียกให้ผู้ร้องชำระเงินแก่ผู้คัดค้านตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 119 ได้

Share