คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2531/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ขายรถยนต์ซึ่งมีแต่โครงรถยนต์และเครื่องยนต์ให้จำเลยที่ 1 โดยมีเงื่อนไขจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระราคาให้ครบถ้วนตามเงื่อนไขกรรมสิทธิ์ยังไม่โอนแล้วจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ต่อเติมกระบะเข้ากับรถยนต์โจทก์ กระบะนั้นเป็นส่วนควบของรถยนต์โจทก์จึงฟ้องขอให้แสดงว่ารถยนต์ทั้งคันเป็นของโจทก์ได้ โจทก์มีสิทธิติดตามและเอาคืนจากผู้ที่ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1336 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีสิทธิโอนขายรถยนต์ให้จำเลยที่ 5 และขายต่อให้จำเลยที่ 6

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นของโจทก์ ให้เพิกถอนทะเบียนรถยนต์ ส.บ.20681 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลขหมายเครื่องยนต์จากเลขดี เอ 120 – 736294 เป็น 120 – 834325 และเลขโครงรถยนต์หรือตัวถังรถยนต์หรือคัตซี จากเลข 1160875 เป็นเลข 1251445 ให้ถูกต้องตามความจริงตามกรรมสิทธิ์ของโจทก์ หากจำเลยไม่กระทำหรือกระทำไม่ได้ให้บุคคลภายนอกกระทำโดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายจำเลยที่ 6 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระราคารถยนต์ให้ครบถ้วนแก่โจทก์ตามหนังสือสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข และหนังสือโอนสิทธิสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขเอกสารหมาย จ.6 และ จ.8 รถยนต์ตามหนังสือสัญญาดังกล่าวจึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อยู่หาได้โอนกรรมสิทธิ์ไปยังจำเลยที่ 1 ไม่ ส่วนพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขหมายเลขประจำเครื่องยนต์และหมายเลขประจำโครงรถยนต์กับการสร้างกระบะต่อเติมเข้ากับรถยนต์ของโจทก์ ตลอดการขออนุญาตให้รถยนต์ประกอบการขนส่งและการขอจดทะเบียนในนามของจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรู้เห็นเป็นใจกระทำเช่นนั้นด้วยกัน เพราะระหว่างระยะเวลาดังกล่าวนั้น จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ของโจทก์ในฐานะผู้ซื้อมีเงื่อนไข ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่ารถยนต์ที่โจทก์ขายให้จำเลยที่ 1 โดยมีเงื่อนไขนั้นเป็นคันเดียวกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ส.บ.20681 แม้จะฟังได้ว่ากระบะที่จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันต่อเติมเข้ากับรถยนต์โจทก์ได้กระทำขึ้นในภายหลังก็ตาม ศาลฎีกาเห็นว่า กระบะนั้นเป็นส่วนควบของรถยนต์โจทก์ ดังนั้น โจทก์จึงฟ้องขอให้แสดงว่ารถยนต์ทั้งคันเป็นของโจทก์ได้ เมื่อรถยนต์คันพิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์ผู้เป็นเจ้าของย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนจากผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันพิพาท จึงไม่มีสิทธิจะโอนขายให้จำเลยที่ 5 และขายต่อให้จำเลยที่ 6 จำเลยที่ 5 และที่ 6 ไม่มีสิทธิดีไปกว่าผู้ขาย แม้จำเลยที่ 6 จะยกเป็นข้อต่อสู้ว่าจำเลยที่ 6 ซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 5 โดยสุจริตเปิดเผยและจดทะเบียนการซื้อขายต่อนายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดสระบุรีก็ตาม จำเลยที่ 6 ก็มิได้ยกเป็นข้อต่อสู้และนำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 ซื้อรถยนต์คันพิพาทในท้องตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ดังนั้น จำเลยที่ 6 นอกจากไม่ได้กรรมสิทธิ์และไม่เป็นเจ้าของรถยนต์คันพิพาทแล้วแม้จะอ้างว่าได้ซื้อรถยนต์คันพิพาทไว้โดยสุจริตก็ไม่มีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332ที่จะไม่คืนรถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของแท้จริง

ที่จำเลยที่ 6 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ชำระราคารถยนต์พิพาทให้โจทก์ด้วยเช็คแล้วจึงเป็นแปลงหนี้ราคารถยนต์มาเป็นหนี้ตามเช็ค โจทก์มีสิทธิเพียงเรียกร้องเอาเงินตามเช็คจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น หามีสิทธิเรียกร้องเอารถยนต์คันพิพาทได้ไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 6 เพิ่งจะยกประเด็นเรื่องแปลงหนี้ใหม่ขึ้นมาว่ากล่าวในชั้นฎีกา จึงเป็นฎีกานอกประเด็นแห่งคดีที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาในประเด็นข้อนี้ของจำเลยที่ 6 ไว้ จึงไม่เป็นฎีกาที่ต้องพิจารณา”

พิพากษายืน

Share