คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2529/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทภายในกรอบเส้นหมึกสีแดงในแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง ซึ่งใช้คำว่า”เฉพาะเนื้อที่ 274 ตารางวา” เป็นเพียงการกะประมาณ ความสำคัญอยู่ที่เนื้อที่ดินภายในกรอบเส้นหมึกสีแดงในแผนที่สังเขปซึ่งโจทก์ครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์นั้นว่ามีเท่าใด เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ของกรมที่ดินรังวัดที่ดินพิพาทตามหลักวิชาการแผนที่ปรากฏว่า มีเนื้อที่ประมาณ 300 ตารางวา ก็ต้องถือว่าเป็นเนื้อที่ของที่ดิน ที่โจทก์เรียกร้องซึ่งไม่เกินคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี พ.ศ. 2497 โจทก์และผู้มีชื่ออีก 3 คนได้ร่วมกันซื้อที่ดินตามโฉนดเลขที่ 9649 ตำบลคลองตัน (คลองเตย) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 3 ไร่24 ตารางวา จากนางระวีวรรณ์ บุญยรักษ์ แต่ได้จดทะเบียนโอนใส่ชื่อนางสมศรี จันทร์เจริญ ภริยาของผู้มีชื่อคนหนึ่งที่ได้ร่วมซื้อที่ดินเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดไว้แทนโจทก์และผู้มีชื่ออีก 3 คน เมื่อซื้อที่ดินแล้วโจทก์และผู้มีชื่ออีก 3 คน ได้ตกลงแบ่งที่ดินออกเป็นสัดส่วนแน่นอนรวม 4 ส่วน และต่างเข้าครอบครองที่ดินตามที่ได้ตกลงแบ่งกันด้วยเจตนาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์นับแต่นั้นมา สำหรับโจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินส่วนทางด้านทิศเหนือเนื้อที่ประมาณ 274 ตารางวา ปรากฏตามความกว้าง ยาว และรูปที่ดินตามแนวกรอบเส้นหมึกสีแดงในแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง โดยโจทก์ได้ปลูกสร้างบ้านเลขที่ 129/1 (ต่อมาทางราชการได้เปลี่ยนทะเบียนบ้านเป็นเลขที่ 998) ปลูกสร้างศาลเจ้า ปลูกสร้างโรงงานฟอกหนังและปลูกสร้างโรงเลี้ยงสุกร กับกั้นรั้วตามแนวเขตที่โจทก์ครอบครองตลอดมาโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้ง และโจทก์ได้แบ่งที่ดินบางส่วนให้คนอื่นเช่าด้วยต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2521 โจทก์ได้ทราบว่านางสมศรี จันทร์เจริญได้โอนขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ 9649 ให้บุคคลอื่น โจทก์ได้ตรวจสอบหลักฐานที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ปรากฏว่านางสมศรีจันทร์เจริญ ได้โอนขายที่ดินดังกล่าวให้จำเลยเมื่อวันที่ 16กุมภาพันธ์ 2510 โจทก์ได้ไปสอบถามนางสมศรี จันทร์เจริญ ซึ่งแจ้งแก่โจทก์ว่าได้ตกลงขายที่ดินให้จำเลยเฉพาะส่วนของสามีนางสมศรีจันทร์เจริญ และส่วนของผู้มีชื่ออีกคนหนึ่งเท่านั้นและนางสมศรีจันทร์เจริญ ได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงส่วนของโจทก์และส่วนของผู้มีชื่ออีกคนหนึ่งด้วย จึงถือได้ว่าจำเลยรับโอนที่ดินส่วนของโจทก์โดยไม่สุจริต อย่างไรก็ดี โจทก์ได้ครอบครองที่ดินส่วนของโจทก์มาเป็นเวลากว่า 10 ปี โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์อีกฐานะหนึ่ง ขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดเลขที่ 9649 ตำบลคลองตัน (คลองเตย) อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานคร เฉพาะเนื้อที่ 274 ตารางวา ตามแนวกรอบเส้นหมึกสีแดงในแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง โดยการครอบครองปรปักษ์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง และให้จำเลยไปจดทะเบียนเฉพาะส่วนที่ดินดังกล่าวใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินและให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่ได้ครอบครองที่พิพาทโดยปรปักษ์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ครอบครองปรปักษ์ที่พิพาทเกินกว่า10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382พิพากษากลับ โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดเลขที่ 9649 ตำบลคลองตัน (คลองเตย) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เฉพาะเนื้อที่274 ตารางวา ตามแผนที่สังเขปในแนวกรอบเส้นหมึกสีแดงท้ายฟ้อง ให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ในส่วนของโจทก์ดังกล่าวใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่พิพาทต่อไป หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายืน
หลังจากศาลฎีกาพิพากษาแล้ว โจทก์และจำเลยได้ยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการแล้วมีหนังสือแจ้งมายังศาลชั้นต้นว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ได้รังวัดและคำนวณที่พิพาทตามหลักวิชาการแผนที่แล้วปรากฏว่า ที่ดินในแนวกรอบเส้นหมึกสีแดงของแผนที่สังเขปท้ายฟ้องมีเนื้อที่ประมาณ 300 ตารางวา ซึ่งไม่ตรงกับหนังสือของศาลชั้นต้นที่ให้แบ่งเฉพาะเนื้อที่ 274 ตารางวา ขอคำวินิจฉัยของศาลเพื่อดำเนินการต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินว่าให้ใช้เนื้อที่ตามที่รังวัดได้ 300 ตารางวา ดำเนินการให้โจทก์
จำเลยยื่นคำร้องว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ดำเนินการให้โจทก์ตามที่รังวัดได้ 300 ตารางวา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเกินกว่าคำพิพากษาหรือเกินกว่าหรือนอกเหนือจากคำฟ้อง ซึ่งระบุว่าที่พิพาทมีเนื้อที่ 274 ตารางวา ทำให้จำเลยเสียเปรียบและเสียหาย ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่แจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินและสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ตามคำฟ้องเนื้อที่ 274 ตารางวา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลพิพากษาให้โจทก์ได้ที่ดินตามแผนที่ในกรอบเส้นหมึกสีแดงท้ายฟ้องทั้งแปลง แม้เนื้อที่จะเกินฟ้อง ก็ไม่เป็นการเกินคำขอ (ฎีกาที่ 1022/2500) คำสั่งของศาลที่ให้จดทะเบียนให้โจทก์จึงชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…โจทก์ฟ้องระบุเนื้อที่ของที่ดินพิพาทภายในกรอบเส้นหมึกสีแดงในแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง ประมาณ 274 ตารางวาซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว แต่ในชั้นบังคับคดีศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแบ่งแยกให้โจทก์ตามที่รังวัดได้จำนวน300 ตารางวา เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่ฟ้องของโจทก์ระบุเนื้อที่ของที่พิพาทที่โจทก์ครอบครองมาว่าประมาณ 274ตารางวา ปรากฏความกว้างความยาวและรูปที่ดินพิพาทภายในกรอบเส้นหมึกสีแดงในแผนที่สังเขปท้ายฟ้องนั้นเป็นการกะประมาณเอา เนื้อที่ที่แท้จริงของที่ดินพิพาทอาจมากกว่าหรือน้อยกว่า 274 ตารางวา ก็เป็นได้ความสำคัญอยู่ที่เนื้อที่ดินภายในกรอบเส้นหมึกสีแดงในแผนที่สังเขปท้ายฟ้องซึ่งโจทก์ครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์นั้นว่ามีเท่าใด แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทภายในกรอบเส้นหมึกสีแดงในแผนที่สังเขปท้ายฟ้องจะใช้คำว่า”เฉพาะเนื้อที่ 274 ตารางวา” ก็เป็นการกะประมาณเอาซึ่งเป็นการไม่แน่นอนเช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินทำการรังวัดที่ดินพิพาทตามหลักวิชาการแผนที่ปรากฏว่ามีเนื้อที่ประมาณ 300 ตารางวา ก็ต้องถือว่าเป็นเนื้อที่ของที่ดินที่โจทก์เรียกร้องนั่นเอง ซึ่งไม่เกินคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ จำเลยจะขอให้รังวัดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เนื้อที่เพียง274 ตารางวา หาได้ไม่ คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่เกินคำขอของโจทก์…”
พิพากษายืน.

Share