แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำพิธีหมั้นกันโดยฝ่ายจำเลยที่ 1 ได้มอบของหมั้นเป็นแหวนพลอยจำนวน 1 วงในการหมั้นจำเลยที่ 1 สัญญาว่าหลังจากหมั้นแล้วจะทำพิธีแต่งงานอยู่กินร่วมกันฉันสามีภรรยาตามประเพณีกันต่อไป ต่อมาจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นโดยไปสมรสกับจำเลยที่ 2 ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ ดังนี้ ฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 กับโจทก์มิได้มีการหมั้นกันและจำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญาหมั้น แสดงว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจฟ้องโจทก์และต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ทั้งสาระสำคัญของคำฟ้องก็อยู่ที่ว่าได้มีการทำสัญญาหมั้นกันและมีการผิดสัญญาหมั้นหรือไม่ ส่วนข้อที่ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาเพื่อแสดงให้เห็นว่าการหมั้นนั้นจะมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมายหรือไม่เท่านั้น โจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวมาในคำฟ้องด้วยฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2533 จำเลยที่ 1 หมั้นโจทก์ด้วยแหวนพลอยจำนวน 1 วง เป็นของหมั้น ได้จัดพิธีหมั้นเชิญแขกตลอดจนญาติผู้ใหญ่มาร่วมพิธี เสียค่าใช้จ่ายในการเตรียมสิ่งของและงานเลี้ยงจำนวน 50,000 บาท จำเลยที่ 1 สัญญาว่าหลังจากหมั้นแล้วจะให้ญาติผู้ใหญ่ของจำเลยที่ 1 มาสู่ขอจัดพิธีแต่งงานอยู่กินร่วมกันฉันสามีภรรยาตามประเพณีต่อไป ต่อมาเมื่อปลายปี2535 โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 2 ติดต่อและมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ฉันชู้สาว โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นคู่หมั้นของโจทก์ จำเลยที่ 2 รับว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 แต่เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2536 จำเลยทั้งสองได้สมรสกัน ณ มูลนิธิสงเคราะห์เชียงราย อำเภอเมืองเชียงรายจังหวัดเชียงราย การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการผิดสัญญาหมั้นต่อโจทก์ และจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ การที่จำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสกันทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสียค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมงานพิธีหมั้นเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท และการที่โจทก์ต้องลาออกจากงานที่โรงแรมวังคำ จังหวัดเชียงราย เพื่อทำหน้าที่แม่บ้านตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยคาดหมายว่าจะมีการสมรสกับจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่วันลาออกจากงานจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 38 เดือน คิดค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท เท่ากับอัตราเงินเดือนครั้งสุดท้ายแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 76,000 บาท และการกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียงขอคิดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้เป็นเงิน 100,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสิ้น 226,000 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 226,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภรรยาทำให้จำเลยทั้งสองเสียเปรียบและหลงข้อต่อสู้จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทดแทนความเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 187,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จคำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าทดแทนจำนวน 112,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เพียงว่า คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่เห็นว่า ฟ้องโจทก์บรรยายว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำพิธีหมั้นกันโดยฝ่ายจำเลยที่ 1 ได้มอบของหมั้นเป็นแหวนพลอยจำนวน 1 วง ในการหมั้นจำเลยที่ 1 สัญญาว่าหลังจากหมั้นแล้ว จะทำพิธีแต่งงานอยู่กินร่วมกันฉันสามีภรรยาตามประเพณีกันต่อไป ต่อมาจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นโดยไปสมรสกับจำเลยที่ 2 ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ เห็นว่า ฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้วจำเลยที่ 1 ก็ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 กับโจทก์มิได้มีการหมั้นกันและจำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญาหมั้น แสดงว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจฟ้องโจทก์และต่อสู้คดีได้ถูกต้องทั้งสาระสำคัญของคำฟ้องก็อยู่ที่ว่าได้มีการทำสัญญาหมั้นกันและมีการผิดสัญญาหมั้นหรือไม่ ส่วนข้อที่ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาเพื่อแสดงให้เห็นว่าการหมั้นนั้นจะมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมายหรือไม่เท่านั้นโจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวมาในคำฟ้องด้วย ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
อนึ่ง ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกามาเป็นเงิน 5,650 บาท สำหรับทุนทรัพย์จำนวน 226,000 บาท เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีจำนวนเพียง112,000 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 2,800 บาท จำเลยที่ 1จึงเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาเกินมาเป็นเงิน 2,850 บาท ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งคืนแก่จำเลยที่ 1 ด้วย
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจำนวน 2,850 บาทแก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ