คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2527/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามใบตราส่งระบุแต่เพียงว่าข้อพิพาทใด ๆ ตามใบตราส่ง คู่กรณีต้องผูกพันตนตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่มีข้อความบังคับว่าคู่กรณีจำต้องมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดก่อนจึงจะฟ้องคดีต่อศาลได้ฟ้องของโจทก์ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 มาตรา 10 โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทไทยโพลีฟอสเฟตและเคมีคัล จำกัดได้สั่งซื้อสินค้าสารเคมีจากประเทศเนเธอร์แลนด์และประกันภัยความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งไว้กับโจทก์จากนั้นได้ว่าจ้างเรือพอลซานเจอร์ให้ทำการขนส่งแต่เมื่อขนถ่ายสินค้าส่งมอบที่กรุงเทพมหานคร ปรากฏว่าสินค้าสูญหายไปบางส่วน โจทก์ต้องใช้ค่าเสียหายไปเป็นเงิน 1,613,489.86 บาท และได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยในฐานะผู้ร่วมขนส่ง ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ตามใบตราส่งเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5คู่สัญญาขนส่งได้แสดงเจตนาตกลงกันว่าข้อพิพาทใด ๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้ใบตราส่ง คู่สัญญาจะต้องชี้ขาดตัดสินโดยอนุญาโตตุลาการตามที่ตกลงไว้ในสัญญาเช่าเรือ ผู้รับตราส่งรับโอนสิทธิมาจากผู้ส่งและโจทก์รับช่วงสิทธิมาจากผู้รับตราส่ง โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง
ก่อนวันสืบพยาน จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10โดยอ้างว่าตามใบตราส่งเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 มีข้อตกลงว่า ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นภายใต้ใบตราส่งจะต้องตัดสินโดยอนุญาโตตุลาการก่อน แต่โจทก์มิได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง
โจทก์คัดค้านว่า ข้อกำหนดหรือเงื่อนไขการเสนอข้อพิพาทตามใบตราส่งให้อนุญาโตตุลาการเป็นเงื่อนไขของผู้รับขนเพียงฝ่ายเดียว ผู้ว่าจ้างในการขนส่งหรือโจทก์มิได้รับทราบหรือยินยอมด้วย นอกจากนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้ร่วมในการขนส่ง ซึ่งตามใบตราส่งโจทก์และจำเลยต่างมิใช่คู่สัญญา เงื่อนไขในเอกสารท้ายฟ้องจึงไม่เกี่ยวกับการฟ้องคดีนี้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งว่า ใบตราส่งเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 มีข้อความระบุไว้แจ้งชัดว่า หากมีข้อพิพาทใด ๆ ตามใบตราส่ง ผู้ทรงใบตราส่งและผู้ขนส่งต้องผูกพันตนตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ตามข้อกำหนดอนุญาโตตุลาการที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าเรือบริษัทไทยโพลีฟอสเฟตและเคมีคัล จำกัดเป็นผู้ทรงใบตราส่ง เมื่อสินค้าเสียหายจากระหว่างขนส่งโจทก์ได้ใช้ค่าเสียหายและรับโอนสิทธิเรียกร้องจากผู้ทรงใบตราส่งมา ข้อตกลงเกี่ยวกับสัญญาอนุญาโตตุลาการที่มีอยู่เกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องหรือความรับผิดตามใบตราส่งย่อมผูกพันตกแก่โจทก์ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530เมื่อโจทก์ยังมิได้เสนอข้อพิพาทตามข้อตกลงในใบตราส่งต่ออนุญาโตตุลาการก่อน โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 ให้จำหน่ายคดี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 26 มิถุนายน 2534 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าโจทก์มีสิทธินำคดีมาฟ้องหรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า ตามใบตราส่งเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 หรือเอกสารหมาย ล.1 มีข้อตกลงว่า เมื่อมีข้อพิพาทใด ๆ เกิดขึ้นให้เสนออนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อนหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามใบตราส่งดังกล่าวมีข้อความว่า “บรรดาข้อกำหนดและข้อยกเว้นทั้งหลายตามสัญญาเช่าเรือดังกล่าวให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของใบตราส่งฉบับนี้ รวมตลอดถึงข้อกำหนดอนุญาโตตุลาการและข้อพิพาทใด ๆตามใบตราส่งฉบับนี้ ทั้งผู้ทรงใบตราส่งและผู้ขนส่งต้องผูกพันตนตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตามข้อกำหนดอนุญาโตตุลาการที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าเรือดังกล่าว จะมีการแจ้งชื่อสถานที่ดำเนินการอนุญาโตตุลาการเมื่อได้รับคำร้องขอจากผู้ขนส่งหรือตัวแทนของผู้ขนส่ง” เห็นว่า ตามข้อความดังกล่าวระบุแต่เพียงว่าข้อพิพาทใด ๆ ตามใบตราส่งฉบับนี้คู่กรณีต้องผูกพันตนตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเท่านั้นไม่มีข้อความบังคับว่าคู่กรณีจำต้องมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดก่อนจึงจะฟ้องคดีต่อศาลได้ อีกทั้งมีเงื่อนไขอยู่ด้วยว่าต้องเป็นไปตามข้อกำหนดและข้อยกเว้นทั้งหลายตามสัญญาเช่าซื้อ แต่ปรากฏว่าจำเลยมิได้อ้างส่งสัญญาเช่าเรือดังกล่าวต่อศาลซึ่งจะทำให้ทราบว่าคู่กรณีจำต้องมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดก่อนจึงจะฟ้องคดีต่อศาลได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ลำพังข้อความที่ระบุไว้ตามใบตราส่งเอกสารหมาย ล.1 ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้นตามใบตราส่งนั้นจะต้องมีการชี้ขาดตัดสินโดยอนุญาโตตุลาการก่อนจึงฟ้องคดีต่อศาลได้ ฟ้องของโจทก์ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องได้ และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share