คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2526/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามลักษณะงานของลูกจ้าง ลูกจ้างต้องออกไปปฏิบัติงานที่ต่างจังหวัดทุกเดือน เดือนละประมาณ 25 วัน ระหว่างออกไปปฏิบัติงานนั้นนายจ้างจะจ่ายเบี้ยเลี้ยงอันได้แก่ค่าที่พักและค่าอาหารแก่โจทก์วันละ 230 บาท และมีลักษณะเป็นการเหมาจ่ายเพราะโจทก์ไม่ต้องแสดงใบเสร็จรับเงิน เบี้ยเลี้ยงดังกล่าวจึงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานของลูกจ้าง ถือได้ว่าเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ส่วนเงินค่ารับรองวันละ 15 บาทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในระหว่างที่ออกไปปฏิบัติงานในต่างจังหวัดนั้น แม้จะมีจำนวนแน่นอนและเป็นการเหมาจ่าย แต่โดยลักษณะของเงินดังกล่าวเป็นการจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อเป็นค่ารับรองลูกค้าของนายจ้างที่ลูกจ้างไปติดต่อด้วย จึงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในการทำงานของลูกจ้าง มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้างถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ทำหน้าที่เป็นพนักงานขายและเก็บเงิน ได้ค่าจ้างคือเงินเดือน ค่าครองชีพ ค่านายหน้าจากการขายเบี้ยเลี้ยง และค่ารับรอง ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์จำนวนหนึ่ง ยังขาดอยู่อีก ๔๔,๑๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าชดเชยที่ขาดอยู่ดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ครบถ้วนแล้วสำหรับเบี้ยเลี้ยงและค่ารับรองมิใช่ค่าจ้าง เพราะมิใช่เงินที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานตามปกติ แต่เป็นเงินที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยในการทำงานในเขตต่างจังหวัด เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับค่าที่พักโรงแรม ค่าอาหาร รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับรับรองลูกค้าของจำเลยซึ่งโจทก์เลี้ยงรับรองในการที่โจทก์เดินทางไปพบลูกค้าเพื่อขายสินค้าและเก็บเงินจากลูกค้าในต่างจังหวัด การเดินทางไปต่างจังหวัดเป็นวันเวลาที่ไม่แน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับคำสั่งของจำเลย เบี้ยเลี้ยงและค่ารับรองจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายของบริษัทจำเลย มิใช่ค่าจ้าง โจทก์ไม่มีสิทธินำเงินดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เบี้ยเลี้ยงและค่ารับรองเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ในลักษณะเหมาจ่ายมีจำนวนแน่นอนเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานของโจทก์ จึงเป็นค่าจ้าง ต้องนำมารวมคำนวณเป็นค่าชดเชยด้วยพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๔๔,๑๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ได้ความว่าบริษัทจำเลยมีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โจทก์ทำหน้าที่พนักงานขายและเก็บเงินจากลูกค้าของจำเลยซึ่งอยู่ในเขตต่างจังหวัด โดยโจทก์ต้องออกไปทำงานต่างจังหวัดเดือนหนึ่งประมาณ ๒๕ วัน ระหว่างที่ออกไปทำงานต่างจังหวัดโจทก์จ่ายเบี้ยเลี้ยงอันประกอบด้วยค่าที่พักวันละ ๑๓๐ บาท ค่าอาหารวันละ ๑๐๐ บาท และค่ารับรองวันละ๑๕ บาท ยกเว้นวันเดินทางกลับโจทก์จะไม่มีสิทธิได้ค่าที่พัก ขณะที่โจทก์อยู่กรุงเทพมหานคร โจทก์จะไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยงและค่ารับรองจากจำเลย
สำหรับปัญหาที่ว่าเบี้ยเลี้ยงอันได้แก่ค่าที่พักและค่าอาหารที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นค่าจ้างหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามลักษณะงานของโจทก์ โจทก์จะต้องออกไปปฏิบัติงานที่ต่างจังหวัดทุกเดือน เดือนละประมาณ ๒๕ วันซึ่งระหว่างออกปฏิบัติงานในต่างจังหวัดจำเลยจะจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้แก่โจทก์วันละ ๒๓๐ บาท ซึ่งเงินดังกล่าวนี้มีจำนวนแน่นอนและมีลักษณะเป็นการเหมาจ่ายเพราะโจทก์ไม่ต้องแสดงใบเสร็จรับเงินวันใดโจทก์จ่ายค่าที่พักและค่าอาหารไม่ถึง ๒๓๐ บาท ก็ไม่ต้องคืนเงินส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย หรือหากวันใดจ่ายเกินไปก็จะเบิกส่วนที่เกินจากจำเลยไม่ได้ เบี้ยเลี้ยงที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์วันละ ๒๓๐ บาท จึงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานของโจทก์ที่ต้องออกปฏิบัติงานต่างจังหวัดเดือนละประมาณ ๒๕ วันเป็นประจำทุกเดือน ถือได้ว่าเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๒ จึงต้องนำมารวมคำนวณเป็นค่าชดเชยด้วย ส่วนค่ารับรองวันละ ๑๕ บาทที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์นั้น แม้จะมีจำนวนแน่นอนและมีลักษณะเป็นการเหมาจ่าย แต่โดยลักษณะแล้วเงินดังกล่าวจำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เพื่อเป็นค่ารับรองลูกค้าของจำเลยที่โจทก์ไปติดต่อด้วย จึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในการทำงานของโจทก์ หาใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานของโจทก์ไม่ ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นค่าชดเชยด้วย โจทก์คงได้รับค่าชดเชยเพียง ๔๑,๔๐๐ บาท อุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะค่ารับรองฟังขึ้น ส่วนเบี้ยเลี้ยงฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน ๔๑,๔๐๐ บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share