คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2525/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินที่จะต้องออกเป็น พ.ร.ฎ. และประกาศราชกิจจานุเบกษาก่อนขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 มาตรา 5 จำกัดเฉพาะ ที่ดินรกร้างว่างเปล่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) เท่านั้น แต่ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องขึ้นทะเบียนและออกเป็น พ.ร.ฎ. แต่อย่างใด
แม้หนังสือที่นายอำเภอมีไปถึงสารวัตรใหญ่มิได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ก็ตาม แต่ไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้รับฟังเอกสารเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาด้วย ศาลย่อมรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาร่วมกัน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป. ที่ดิน มาตรา ๘ ตรี, ๙, ๑๐๘, ๑๐๘ ทวิ บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๑๕๐/๒๕๓๓ ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษสำนวนแรก นับโทษในสำนวนแรกต่อจากโทษในสำนวนหลัง และมีคำสั่งให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป. ที่ดิน มาตรา ๙, ๑๐๘ ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิด ๒ กระทง จำคุกกระทงละ ๑ ปี รวมจำคุก ๒ ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ หนึ่งในสี่ คงจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน บวกโทษจำคุก ๑ ปี ที่รอการลงโทษไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ ๑๑๕๐/๒๕๓๓ ของศาลชั้นต้น เป็นจำคุก ๒ ปี ๖ เดือน ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินที่ยึดถือครอบครอง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ตามที่จำเลยฎีกาว่า การประกาศกำหนดให้ที่ดินทุ่งป่าไผ่หัวนาดงเป็นที่สาธารณประโยชน์มิได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๗๘ มาตรา ๕ กล่าวคือ ไม่ได้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่ดินดังกล่าวจึงไม่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น เห็นว่า ตามทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์เอกสารหมาย จ.๑ มีข้อความระบุว่า ที่ดินทุ่งป่าไผ่หัวนาดงเป็นที่ดินที่ราษฎรในตำบลบ้านเก่าใช้เก็บผักหักฟืนและเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ร่วมกันมาเป็นเวลาช้านานนับร้อยปี ดังนี้ ที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ (๒) ส่วนที่ดินที่จะต้องออกเป็น พระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย การหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๗๘ มาตรา ๕ นั้น จำกัด เฉพาะที่ดินรกร้างว่างเปล่าตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ (๑) เท่านั้น แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ (๒) ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องขึ้นทะเบียนและออกเป็นพระราชกฤษฎีกาแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ วินิจฉัยว่า ที่ดินทุ่งป่าไผ่หัวนาดงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ศาลฎีกาเป็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การที่นายละมูล นายอำเภอด่านขุนทดมีหนังสือถึงสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธร อำเภอด่านขุนทดให้ดำเนินคดีแก่จำเลย โดยมอบอำนาจให้นายชนะ กำนันตำบลบ้านเก่าเป็นผู้ไปร้องทุกข์ต่อ พนักงานสอบสวน แต่เอกสารดังกล่าวไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ การมอบอำนาจจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายชนะไม่มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนนั้น เห็นว่า แม้หนังสือที่นายอำเภอด่านขุนทดมีไปถึงสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอด่านขุนทดมิได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งก็ตาม แต่ไม่มี บทกฎหมายใดบัญญัติห้ามมิให้รับฟังเอกสารเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาด้วย ศาลฎีกาย่อมรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๖
พิพากษาแก้เป็นว่า สำนวนแรกลงโทษจำคุก ๑ ปี และปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท สำนวนหลัง จำคุก ๔ เดือน และปรับ ๖,๐๐๐ บาท คำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้างเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ หนึ่งในสี่ สำนวนแรกจำคุก ๙ เดือน และปรับ ๗,๕๐๐ บาท สำนวนหลังจำคุก ๓ เดือน และปรับ๔,๕๐๐ บาท รวมจำคุก ๑๒ เดือน และปรับ ๑๒,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๓ ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก ๓ เดือน ต่อครั้ง มีกำหนด ๒ ปี ตาม ป.อ. มาตรา ๕๖ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตาม ป.อ. มาตรา ๒๙, ๓๐ คำขอของโจทก์ที่ให้บวกโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๑๕๐/๒๕๓๓ ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษในสำนวนแรกให้ยก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไป ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑.

Share