คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1868/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่ามติของคณะกรรมการสหภาพแรงงานจำเลยที่ให้ปลดโจทก์ออกจากสมาชิกสหภาพแรงงานตกเป็นโมฆะเมื่อปรากฏว่าขณะยื่นฟ้องคดีนี้โจทก์ไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นสมาชิกของจำเลยได้อีกแล้ว ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาว่าโจทก์จะฟ้องเพิกถอนมติของจำเลยเพื่อกลับเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยอีกต่อไปได้หรือไม่ เป็นปัญหาอำนาจฟ้องซึ่งเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนี้ แม้จำเลยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติของโจทก์ขึ้นต่อสู้ ศาลก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2532 จำเลยได้ปลดโจทก์ออกจากสมาชิกของจำเลย โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดต่อระเบียบข้อบังคับแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของสหภาพแรงงาน จำเลยมีเจตนาขัดขวางไม่ให้โจทก์เข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นและลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่วิสามัญและเป็นการขัดขวางไม่ให้โจทก์มีสิทธิสมัครเป็นกรรมการของจำเลยตลอดไปในระยะ 1 ปี มติของคณะกรรมการจำเลยที่ปลดโจทก์ดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิและอำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลทำให้โจทก์พ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกของจำเลยขอให้ศาลพิพากษาว่า มติของคณะกรรมการที่ปลดโจทก์จากสมาชิกสหภาพเป็นโมฆะ จำเลยให้การว่า โจทก์ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับหลายอย่างคณะกรรมการบริหารของจำเลยจึงได้ลงมติปลดโจทก์ออกจากการเป็นสมาชิกของจำเลยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2532 โดยผ่านการกลั่นกรองวินิจฉัยโดยสุจริตและมีอำนาจที่จะกระทำได้ตามข้อบังคับอีกทั้งเป็นการดำเนินการตามวัตถุประสงค์เพื่อยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับจำเลย มติดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าตามข้อบังคับสหภาพแรงงานเนชั่นแนลไทย เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3 ข้อ 5 กำหนดไว้ว่า สมาชิกของสหภาพฯ ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ (1) เป็นลูกจ้างประจำของบริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัด หรือลูกจ้างประจำของบริษัทซึ่งทำกิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรากฏว่าโจทก์ถูกบริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัด นายจ้างเลิกจ้างเมื่อวันที่26 มกราคม 2533 และโจทก์ไม่ได้ทำงานเป็นลูกจ้างผู้ใดอีกต่อไปโจทก์จึงขาดคุณสมบัติที่จะเป็นสมาชิกของจำเลยตามข้อบังคับข้อ 5(1)แม้ศาลจะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย ก็ไม่ทำให้โจทก์กลับมาเป็นสมาชิกของจำเลยได้ คดีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาต่อไปพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ตามข้อบังคับสหภาพแรงงานเนชั่นแนลไทย พุทธศักราช 2531 เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3 ข้อ 5 กำหนดไว้ว่าสมาชิกของสหภาพฯ ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. เป็นลูกจ้างประจำของบริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัด หรือลูกจ้างประจำของบริษัทซึ่งทำกิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า
2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์
3. ต้องไม่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานอื่น
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่าโจทก์ถูกบริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัด ผู้เป็นนายจ้างเลิกจ้างเสียแล้วตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2533 ตามเอกสารหมาย จ.1 ขณะนี้โจทก์ก็ยังไม่ได้ทำงานเป็นลูกจ้างของผู้ใด โจทก์ได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2533 ดังนั้นในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างประจำของบริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัด หรือบริษัทอื่นที่ทำกิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ในขณะยื่นฟ้องโจทก์จึงขาดคุณสมบัติที่จะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานจำเลยได้ตามข้อบังคับเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3 ข้อ 5(1) โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า มติของคณะกรรมการที่ปลดโจทก์ออกจากสมาชิกสหภาพแรงงานตกเป็นโมฆะ คำฟ้องของโจทก์ย่อมมีผลเป็นการขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์กลับเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยอีก เพราะว่าถ้าศาลพิพากษาว่ามติของคณะกรรมการเป็นโมฆะ โจทก์ย่อมมีสิทธิกลับสู่ฐานะเดิมคือเป็นสมาชิกของจำเลยต่อไป ปัญหามีว่าโจทก์จะฟ้องเพิกถอนมติของจำเลยเพื่อกลับเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยอีกต่อไปได้หรือไม่ เป็นปัญหาอำนาจฟ้องซึ่งเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ยกเอาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติของโจทก์ขึ้นต่อสู้ศาลแรงงานกลางก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ศาลฎีกาเห็นว่าในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ โจทก์ไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นสมาชิกของจำเลยได้แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า มติที่ปลดโจทก์ออกจากสมาชิกเป็นโมฆะ เพราะโจทก์ไม่มีสิทธิกลับเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยอีกแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะเสียสิทธิต่าง ๆ ในระหว่างเวลาที่โจทก์ยังไม่ถูกเลิกจ้างคือวันที่ 18 ธันวาคม 2532 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2533 นั้น เห็นว่าถ้าโจทก์ได้รับความเสียหายจริงโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ถ้าโจทก์ฟ้องบริษัทเนชั่นแนลไทยจำกัด และศาลพิพากษาให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิเป็นสมาชิกของจำเลยได้ทันทีนั้น ข้ออ้างดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จะกล่าวอ้างมาเป็นเหตุฟ้องคดีนี้หาได้ไม่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share