คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2525/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “ผู้ใดออกเช็ค” ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 นั้นมิได้หมายความว่า ผู้ที่จะมีความผิดคือผู้ออกเช็คเท่านั้น แต่อาจจะมีผู้ที่ร่วมกระทำผิดด้วยกันกับผู้ออกเช็ค และถือว่าเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ได้ จำเลยที่ 2 เป็นหนี้เงินยืมโจทก์และนำเช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1เป็นผู้ลงชื่อสั่งจ่ายมากรอกข้อความต่อหน้าโจทก์ แล้วลงชื่อสลักหลังมอบเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เป็นการชำระหนี้เงินยืมโดยรับรองว่าเช็คพิพาทสามารถนำไปขึ้นเงินได้แน่นอน เช่นนี้ เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับจำเลยที่ 1 ผู้ออกเช็คพิพาทโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 แต่ศาลล่างพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2499 เป็นเรื่องพิมพ์ผิดพลาด ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นให้ตรงตามบทกฎหมายที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190ประกอบกับมาตรา 215 และ 225 และไม่ถือเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 2แต่อย่างใด ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ได้วางเงินจำนวนตามเช็คต่อสำนักงานวางทรัพย์กลาง กระทรวงยุติธรรม และได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว เป็นการบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นประกอบกับจำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึงอายุและประวัติของจำเลยที่ 2 ที่เป็นข้าราชการบำนาญ ได้รับพระราชทานยศครั้งสุดท้ายเป็นพลโทและเกษียณราชการโดยไม่มีประวัติด่างพร้อยด้วยแล้ว ศาลฎีการอการลงโทษให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ก่อนไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาตส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2499มาตรา 3(1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุก
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นหนี้เงินยืมโจทก์และนำเช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงชื่อสั่งจ่ายมากรอกข้อความต่อหน้าโจทก์ แล้วลงชื่อสลักหลังมอบเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เป็นการชำระหนี้เงินยืม โดยรับรองว่าเช็คพิพาทสามารถนำไปขึ้นเงินได้แน่นอน คำว่า “ผู้ใดออกเช็ค” ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 นั้นมิได้หมายความว่า ผู้ที่จะมีความผิดคือผู้ออกเช็คเท่านั้น แต่อาจจะมีผู้ที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับผู้ออกเช็คและถือว่าเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ได้ พฤติการณ์แห่งคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับจำเลยที่ 1ผู้ออกเช็คพิพาทโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค จำเลยที่ 2จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3(1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2499 มาตรา 3(1) นั้นเป็นเรื่องพิมพ์ผิดพลาด ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นให้ตรงตามบทกฎหมายที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 190 ประกอบกับมาตรา 215 และ 225และไม่ถือเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 2 แต่อย่างใด เพราะศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า หากฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดจริง ก็ควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษเพราะจำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการบำนาญ ได้รับพระราชทานยศครั้งสุดท้ายเป็นพลโทและเกษียณราชการโดยไม่มีประวัติด่างพร้อยนั้น ปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ได้วางเงินจำนวนตามเช็คต่อสำนักงานวางทรัพย์กลาง กระทรวงยุติธรรม และได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว อันเป็นการบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นประกอบกับจำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึงอายุและประวัติของจำเลยที่ 2 ด้วยแล้ว จึงเห็นควรรอการลงโทษให้จำเลยที่ 2
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด 2 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share