คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2518/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทของโจทก์ถูกเวนคืนโดยอาศัยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางกรวยจังหวัดนนทบุรี และเขตดุสิต เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2527 ซึ่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 63 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน2515 รายละเอียดในการเวนคืนที่ดินพิพาทจึงต้องบังคับตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว หาใช่บังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ไม่ เมื่อโจทก์โต้แย้งเงินค่าทดแทนไว้แล้ว โจทก์ไม่จำต้องยื่นอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวแต่โจทก์ย่อมฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ตนเห็นว่ายังขาดอยู่ภายในกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนได้ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ฯ ข้อ 67 วรรคสอง ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรีและเขตดุสิต เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2527 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2527 เป็นต้นไป จำเลยจึงต้องใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินค่าทดแทนที่ศาลสั่งจ่ายเพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวและแม้ว่าต่อมาพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวจะถูกยกเลิกก็หามีผลย้อนหลังใช้บังคับโจทก์ซึ่งมีสิทธิอยู่ก่อนแล้วไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์ 21 โฉนด ถูกเวนคืนหมดทั้งแปลงจำเลยได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะเวนคืนให้โจทก์แต่ละโฉนดเท่าราคาที่ดินตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อให้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม รวมเป็นเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสิ้น จำนวน 11,139,500บาท ซึ่งโจทก์เห็นว่าต่ำไปและไม่ยินยอมด้วยขอบังคับให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นและดอกเบี้ยจำนวน 78,591,000 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 62,560,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินทั้ง 21 โฉนด และถูกเวนคืนทั้งหมดจริง แต่ที่ดินของโจทก์อยู่ในมุมอับบริเวณเชิงสะพานมีด้านติดถนนแคบและเป็นบริเวณทางโค้ง เนื้อที่ส่วนใหญ่ลึกเข้าไปข้างใน สิ่งปลูกสร้างเก่าและทรุดโทรมผ่านการใช้งานมาหลายปีและไม่ใช่ย่านชุมชนที่เจริญ การกำหนดเงินค่าทดแทนจึงถูกต้องตามบทบัญญัติในมาตรา 9 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 และมาตรา 36 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2527 ใช้บังคับเพราะในขณะนั้นยังไม่มีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ และเงินค่าทดแทนที่โจทก์อ้างว่าควรจะได้รับเพิ่มขึ้นก็ยังไม่เป็นที่แน่นอน ประกอบกับบทบัญญัติในเรื่องดอกเบี้ยตามข้อ 67 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ได้ถูกยกเลิกโดยมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2535 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530ก่อนที่โจทก์จะได้รับเงินค่าทดแทน หากโจทก์จะมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยก็ควรนับแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2530 และ 20 พฤศจิกายน 2530อันเป็นวันที่โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทน โดยสงวนสิทธิไว้และวันที่โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนดังกล่าวก็เป็นภายหลังที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ใช้บังคับแล้ว ดังนั้นหากโจทก์ไม่พอใจเงินค่าทดแทน โจทก์จะต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯพ.ศ. 2527 ก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ตามมาตรา 25, 26แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530เมื่อโจทก์ยังไม่ได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยใช้เงินค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์จำนวน 4,388,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยเป็นประการแรกว่า โจทก์จะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก่อนฟ้องคดีหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2530 และฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2531 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ใช้บังคับแล้วกรณีต้องบังคับตามกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ดินพิพาทของโจทก์ถูกเวนคืนโดยอาศัยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตดุสิตเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2527 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 27 ธันวาคม 2527 ตามเอกสารหมาย จ.1ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปคือวันที่ 28 ธันวาคม 2527 พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 63 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่28 พฤศจิกายน 2515 รายละเอียดในการเวนคืนที่ดินพิพาทของโจทก์จึงต้องบังคับตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28พฤศจิกายน 2515 หาใช่บังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม2530 ไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์โต้แย้งเงินค่าทดแทนไว้แล้วโจทก์ไม่จำต้องยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว แต่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทย่อมฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ตนเห็นว่ายังขาดอยู่ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 67 วรรคสอง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนตั้งแต่วันที่11 ธันวาคม 2529 ตามเอกสารหมาย จ.3 และเรียกโจทก์มาทำสัญญารับเงินค่าทดแทนตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2530 ถึงวันที่ 26พฤษภาคม 2530 ตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.24 โจทก์ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แก่จำเลยตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2530ตามรายการสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.21และในวันเดียวกันนี้โจทก์รับเงินงวดสุดท้ายตามสัญญารับเงินค่าทดแทนโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2531 ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์รับเงินค่าทดแทน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ศาลฎีกาเห็นว่าเงินค่าทดแทนที่กำหนดให้โจทก์ควรกำหนดในอัตราเฉลี่ยโดยกำหนดให้ตารางวาละ 14,000 บาททั้ง 21 โฉนด ที่ดินพิพาทที่ถูกเวนคืนทั้ง 21 โฉนด รวมเนื้อที่8 ไร่ 3 งาน 9.5 ตารางวา หรือ 3,509.50 ตารางวา เป็นเงินค่าทดแทน 49,133,000 บาท หักเงินค่าทดแทนที่โจทก์รับไปแล้วจำนวน11,139,500 บาท จำเลยต้องจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นจำนวน 37,993,500บาท ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการสุดท้ายว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 67 วรรคสอง ตอนท้ายบัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชำระเงินเพิ่มขึ้นให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินนั้นตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับเมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางกรวยจังหวัดนนทบุรี และเขตดุสิต เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2527 ตามเอกสารหมาย จ.1 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม2527 เป็นต้นไปจำเลยจึงต้องใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินค่าทดแทนที่ศาลสั่งให้จ่ายเพิ่มขึ้น นับแต่วันที่28 ธันวาคม 2527 แม้ต่อมาบทบัญญัติดังกล่าวได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 มาตรา 7ก่อนที่โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.24และตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.27 ถึง จ.47 ก็ตามก็หามีผลย้อนหลังใช้บังคับโจทก์ซึ่งมีสิทธิอยู่ก่อนแล้ว ศาลล่างวินิจฉัยปัญหานี้ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงินค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์จำนวน 37,993,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share