คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2517/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องเรียกเงินค่ากระแสไฟฟ้าที่ค้างชำระ แม้ไม่บรรยายว่าจำเลย ใช้ไฟฟ้าจากเลขวัดหน่วยที่เท่าใดถึงหน่วยที่เท่าใด ก็ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุมเพราะเป็นรายละเอียดที่จะนำสืบ
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโจทก์ดำเนินกิจการสาธารณูปโภคซึ่งต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ประโยชน์ของรัฐและประชาชน ดังที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคพ.ศ.2503 มาตรา 6,8,41 หาใช่เป็นการประกอบกิจการค้าหากำไรตามปกติไม่ โจทก์จึงมิใช่เป็นพ่อค้าตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) สิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าของโจทก์ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี และโดยที่ค่ากระแสไฟฟ้าประจำเดือนมิใช่จำนวนเงินที่ตกลงไว้แน่นอน แม้จะกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลากรณีก็ไม่ต้องด้วยอายุความห้าปีตามมาตรา 166 จึงต้องนำอายุความทั่วไปซึ่งมีกำหนดสิบปีตามมาตรา 164มาใช้บังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2510 จำเลยที่ 1 ขอติดตั้งหม้อแปลงใช้ไฟฟ้า 380 โวลท์ 3 สาย ขนาด 250 กิโลวัตต์ เพื่อใช้ในกิจการโรงภาพยนตร์วิสต้ารามาและสถานโบว์ลิ่งของจำเลยที่ 1 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ดำเนินการติดตั้งหม้อแปลงและมาตรวัดไฟฟ้า (มีเตอร์) ตลอดจนจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ จำเลยที่ 1 ชำระค่ากระแสไฟฟ้าแก่โจทก์ตลอดมา ครั้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2515 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ที่โรงภาพยนตร์วิสต้ารามาได้จำนวน 162,800 หน่วย คิดเป็นเงิน 83,023 บาท การไฟฟ้าจังหวัดอุดรธานีออกบิลเรียกเก็บเงินจำเลยที่ 1 ชำระให้เพียง 16,843 บาท 33 สตางค์ อีก 66,179 บาท 67 สตางค์ จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ยอมชำระจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกิจการสาขาของจำเลยที่ 2 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์รวม 3 ฉบับ ใจความว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระเงินค่ากระแสไฟฟ้าจำเลยที่ 3 ยอมชำระแทนในจำนวนไม่เกิน 59,000 บาท การค้ำประกันของจำเลยที่ 3 ผูกพันจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องรับผิดชำระเงินค่ากระแสไฟฟ้าแทนจำเลยที่ 1 ตามจำนวนเงินที่ค้ำประกัน กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากเงินค้างชำระจำนวน 66,179 บาท 67 สตางค์ นับแต่เดือนมีนาคม 2515 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 9,926 บาท 95 สตางค์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 76,106 บาท 62 สตางค์ ขอให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 76,106 บาท 62 สตางค์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ชำระแทนตามสัญญาค้ำประกันกับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 66,179 บาท 67 สตางค์นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ซื้อกระแสไฟฟ้าจากโจทก์ โจทก์ส่งบิลเรียกเก็บค่าไฟฟ้าประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2515 เป็นเงิน 83,023 บาท นับแต่ปี 2510 ถึงบัดนี้จำเลยใช้กระแสไฟฟ้าไม่เกินเดือนละ 17,000 บาท ถ้าเป็นฤดูหนาวก็ประมาณเดือนละ 8,000 บาท หม้อวัดไฟฟ้าของจำเลยเสียหายขัดข้องเพราะรถบริษัทยูคอน จำกัด ชนหรือเพราะถูกกลั่นแกล้งจากพนักงานไฟฟ้าของโจทก์ ตัวเลขจึงสูงเพิ่มขึ้นจากจำนวนปกติเป็น 3 – 4 เท่า ซึ่งมิได้เกิดจากการใช้ไฟฟ้าของจำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิด และเมื่อเกิดปัญหาเรื่องนี้โจทก์อนุญาตให้จำเลยเสียค่ากระแสไฟฟ้าโดยวิธีเฉลี่ยตามระเบียบของการไฟฟ้าเป็นเงิน 16,843 บาท โจทก์หมดสิทธิที่จะเรียกเก็บเงินที่คิดผิดพลาด ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่บรรยายว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2515 จำเลยใช้ไฟฟ้าจากเลขวัดหน่วยที่เท่าใดถึงหน่วยที่เท่าใดและฟ้องขาดอายุความ

จำเลยที่ 2 ให้การว่ายอดเงินค่ากระแสไฟฟ้าเดือนกุมภาพันธ์ 2515 จำนวน66,179 บาท 67 สตางค์ ไม่เป็นความจริง เพราะนับแต่ปี 2513 ถึงสิ้นปี 2515จำเลยที่ 1 ไม่เคยเสียเงินค่ากระแสไฟฟ้าเกินเดือนละ 20,000 บาท เป็นไปไม่ได้ที่เดือนกุมภาพันธ์ 2515 เดือนเดียว ค่ากระแสไฟฟ้าจะทวีสูงขึ้นถึง 3 เท่าเศษอย่าไรก็ตามความรับผิดของจำเลยที่ 2 มีจำนวนเพียง 59,000 บาท

จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 66,179 บาท67 สตางค์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2516เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนในวงเงินไม่เกิน 59,000 บาท

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า ในปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยที่ 1 ให้การว่าโจทก์ไม่บรรยายว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2515 จำเลยใช้ไฟฟ้าจากเลขวัดหน่วยที่เท่าใดถึงหน่วยที่เท่าใด ข้อนี้โจทก์กล่าวมาในฟ้องโดยแจ้งชัดซึ่งข้อเท็จจริงอันเป็นสภาพแห่งข้อหาว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2515 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 คิดเป็นเงิน83,023 บาท จำเลยย่อมเข้าใจข้อหาได้ดี ข้อโต้เถียงของจำเลยเป็นรายละเอียดที่จะนำสืบ ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172แล้ว หาใช่เป็นฟ้องเคลือบคลุมดังข้อฎีกาของจำเลยไม่

ปัญหาเกี่ยวกับอายุความ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าหนี้สินอันใดก่อนเดือนกุมภาพันธ์2515 ขาดอายุความแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ดำเนินกิจการสาธารณูปโภคซึ่งต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ประโยชน์ของรัฐและประชาชน ดังที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 มาตรา 6, 8, 41 หาใช่เป็นการประกอบกิจการค้าหากำไรตามปกติไม่ โจทก์จึงมิใช่เป็นพ่อค้าตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) ซึ่งจะต้องใช้อายุความสองปีบังคับแก่คดีดังข้อฎีกาของจำเลย และโดยที่ค่ากระแสไฟฟ้าประจำเดือนมิใช่จำนวนเงินที่ตกลงไว้แน่นอน แม้จะกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา กรณีของโจทก์ก็ไม่ต้องด้วยอายุความห้าปี ตามมาตรา 166 จึงต้องนำอายุความทั่วไปซึ่งมีกำหนดสิบปีตามมาตรา 164 มาใช้บังคับ สิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าในเดือนตุลาคม2514 ถึงเดือนมกราคม 2515 นับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 2 ปีเศษ คดีโจทก์จึงหาขาดอายุความไม่

พิพากษายืน

Share