แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ได้รับโอนกิจการทรัพย์สิน หนี้สินและเงินงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับโรงเรียนประชาบาลจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดตามพระราชบัญญัติโอนกิจการบริหารฯ เป็นการโอนโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สิทธิในการฟ้องผู้ต้องรับผิดตามสัญญาจ้างเหมาและผู้ทำละเมิดเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวจึงโอนมาเป็นของโจทก์ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ไปร่วมงานศพของ พ. กับ ม. โดยตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498บัญญัติให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นนิติบุคคลมีสภาจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินกิจการส่วนจังหวัด ถือได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แทนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและได้รู้ถึงการตายของ พ. กับ ม. แล้วโจทก์ซึ่งรับโอนกิจการทรัพย์สินในส่วนที่เกี่ยวกับโรงเรียนประชาบาลมาจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 5 ในฐานะทายาทของ พ.กับ ม. เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดรู้ถึงความตายของ พ. กับ ม. ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยทั้งสองจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ตามระเบียบของทางราชการ คณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงไม่ใช่คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่ง หากโจทก์ฟ้องคดียังไม่พ้น 1 ปี หลังจากที่เลขาธิการโจทก์ทราบการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดทางแพ่ง คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะกรรมการตรวจการจ้างทำครุภัณฑ์มิได้ไปตรวจรับงาน ณ สถานที่ส่งมอบและผู้รับจ้างยังส่งงานไม่ครบด้วยแต่กลับทำบันทึกการตรวจรับงานเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดว่าผู้รับจ้างได้สร้างงานตามสัญญาถูกต้อง สมควรจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้าง ทำให้โจทก์เสียหาย ไม่ได้รับมอบครุภัณฑ์จากผู้รับจ้างครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา แต่ต้องชำระเงินให้แก่ผู้รับจ้างไปก่อน การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการทำละเมิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องฐานละเมิดขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5ร่วมกันชำระเงินจำนวน 426,827.50 บาท แก่โจทก์ จำเลยที่ 1ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 578,510 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 411,400 บาท และต้นเงิน557,600 บาท ตามลำดับ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งห้าให้การทำนองเดียวกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ทั้งมิได้ฟ้องร้องจนพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รู้ถึงความตายของนายพงษ์ศักดิ์ หล่อธาราประเสริฐ และนายมานิตย์ โตมรศักดิ์ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2520ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาทำสัญญาจ้างเหมาห้างหุ้นส่วนจำกัดเชิดชัยผลิตภัณฑ์ไม้ไทยและห้างหุ้นส่วนจำกัดมานิตย์ค้าวัสดุก่อสร้างให้จัดทำครุภัณฑ์การศึกษาและจัดส่งให้แก่โรงเรียนประชาบาลต่าง ๆ ในจังหวัดนครราชสีมา ตามสัญญาจ้างเหมาทำครุภัณฑ์การศึกษาเอกสารหมาย จ.3, จ.4 จำเลยที่ 1ถึงที่ 3 นายพงษ์ศักดิ์ หล่อธาราประเสริฐ และนายมานิตย์ โตมรศักดิ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจการจ้างทำครุภัณฑ์การศึกษาดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.7, จ.8 ต่อมาวันที่ 15 มิถุนายน 2521 จำเลยที่ 1 ที่ 2 นายมานิตย์และนายพงษ์ศักดิ์ทำหลักฐานการตรวจรับงานจ้างเหมาว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดเชิดชัยผลิตภัณฑ์ไม้ไทยจัดทำครุภัณฑ์การศึกษาถูกต้องตามสัญญาคณะกรรมการได้ทำการตรวจรับเห็นว่าถูกต้องตามสัญญาแล้วตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2521 ตามใบตรวจรับงานจ้างเหมาเอกสารหมาย จ.11 และวันที่ 21 มิถุนายน 2521 จำเลยที่ 1ถึงที่ 3 และนายพงษ์ศักดิ์ทำหลักฐานการตรวจรับงานจ้างเหมาว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดมานิตย์ค้าวัสดุก่อสร้างจัดทำครุภัณฑ์การศึกษาถูกต้องตามสัญญา คณะกรรมการได้ทำการตรวจรับเห็นว่าถูกต้องตามสัญญาแล้วตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2521 ตามใบตรวจรับงานจ้างเหมาเอกสารหมาย จ.12 และได้มีการจ่ายเงินตามสัญญาแก่ห้างทั้งสองแล้ว ต่อมามีผู้ร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่าการจ้างเหมาทำครุภัณฑ์การศึกษาดังกล่าวมีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริตตามรายละเอียดในเอกสารหมาย จ.9ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้รับรายงานการสืบสวนข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย จ.10 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2522 ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2523ให้สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติโจทก์เป็นกรมในกระทรวงศึกษาธิการ และพระราชบัญญัติโอนกิจการบริหารโรงเรียนประชาบาลขององค์การบริหารส่วนจังหวัด และโรงเรียนประถมศึกษาของกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการพ.ศ. 2523 โจทก์ได้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาหาผู้รับผิดในทางแพ่งในกรณีดังกล่าวโจทก์ได้รับรายงานจากคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาหาผู้รับผิดทางแพ่งเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2529 ตามเอกสารหมาย จ.22นายพงษ์ศักดิ์ ตายเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2521 นายมานิตย์ตายเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2521 จำเลยที่ 4 เป็นทายาทของนายพงษ์ศักดิ์จำเลยที่ 5 เป็นทายาทของนายมานิตย์ ปัญหาว่าฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าหากนายเลิศ หงษ์ภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาอาจจะทราบถึงการตายของนายพงษ์ศักดิ์และนายมานิตย์ ก็เป็นเรื่องการทราบในฐานะที่เป็นบุคคลดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมามิใช่เป็นการทราบในฐานะที่ปฏิบัติหน้าที่แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาซึ่งเป็นผู้เสียหายเกี่ยวกับการละเมิดนั้นข้อนี้นายสุพจน์ เสนาบุญฤทธิ์ พยานโจทก์ซึ่งรับราชการเป็นเสมียนตราจังหวัดนครราชสีมาเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า เสี่ยสี่ซึ่งชื่อจริงว่าอะไรไม่ทราบ แต่เป็นกรรมการคนหนึ่งกับนายมานิตย์ถึงแก่กรรมเมื่อปี 2521 ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้ไปงานศพเสี่ยสี่และนายมานิตย์ น่าเชื่อว่าเสี่ยสี่คือนายพงษ์ศักดิ์ซึ่งเป็นกรรมการตรวจรับครุภัณฑ์ด้วยฟังได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมารู้ถึงความตายของนายมานิตย์ตั้งแต่ปี 2521 และรู้ถึงความตายของนายพงษ์ศักดิ์อย่างช้าเมื่อต้นปี 2522 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 มาตรา 5 บัญญัติว่าให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นนิติบุคคล มีสภาจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินกิจการส่วนจังหวัดตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาจึงเป็นผู้แทนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาตามบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาในฐานะที่เป็นผู้แทนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมารู้ถึงความตายของนายมานิตย์และนายพงษ์ศักดิ์แล้ว จึงฟังได้ว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมารู้ถึงความตายของนายมานิตย์ตั้งแต่ปี 2521 และรู้ถึงความตายของนายพงษ์ศักดิ์ตั้งแต่ต้นปี2522 โจทก์ซึ่งรับโอนบรรดากิจการทรัพย์สินหนี้สินในส่วนที่เกี่ยวกับโรงเรียนประชาบาลมาจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดตามกฎหมายฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2530 พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมารู้ถึงความตายของนายพงษ์ศักดิ์และนายมานิตย์ ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 และที่ 5จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าการตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเป็นแต่เพียงการสืบสวนว่าผู้รับจ้างได้จัดส่งครุภัณฑ์การศึกษาภายในกำหนดตามสัญญาหรือไม่ หากส่งไม่ครบเป็นเพราะเหตุใดใครเป็นผู้รับผิดค่าเสียหายเบี้ยปรับตามสัญญาเป็นเท่าใด ไม่มีการสืบสวนถึงประเด็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นายพงษ์ศักดิ์และนายมานิตย์กระทำละเมิดลักษณะไหนอย่างไรเกิดความเสียหายเท่าใด แม้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้รับรายงานการสืบสวนหาข้อเท็จจริงก็ถือไม่ได้ว่า ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาหาผู้รับผิดชอบทางแพ่งแล้ว โจทก์จึงรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เห็นว่า รายงานของคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเอกสารหมาย จ.10 แม้ตามข้อ 11.3 จะมีข้อความว่าคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเห็นว่า การปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจการจ้างละเว้นการปฏิบัติอันพึงจะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการด้วย แต่กรณีที่มีการทุจริตเสียหายต่อทางราชการนั้น จะต้องมีการตั้งกรรมการดำเนินการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบในทางแพ่งด้วย เมื่อสอบสวนเสร็จแล้วต้องดำเนินการไล่เบี้ยเรียกเงินชดใช้จากผู้ร่วมรับผิดชอบทันที ตามนัยหนังสือสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นว.155/2503ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2503 เรื่องความรับผิดชอบของทางราชการในทางแพ่ง (เอกสารในสำนวน สารบัญอันดับ 56) และตามรายงานการตรวจสอบสืบสวนของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 3เอกสารหมาย จ.15 แผ่นที่ 5 ก็ได้เสนอแนะให้ดำเนินการกับคณะกรรมการตรวจการจ้างตามนัยหนังสือสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยแต่งตั้งกรรมการขึ้นพิจารณาหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งเช่นกัน เห็นได้ว่า คณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงไม่ใช่คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่ง ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาก็มิได้ทวงถามจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้ชดใช้ค่าเสียหายแต่อย่างใด แม้ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาจะได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้รู้ถึงตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาโจทก์ซึ่งได้รับโอนสิทธิและหน้าที่ตลอดจนหนี้สินต่าง ๆ จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาตามพระราชบัญญัติโอนกิจการบริหารโรงเรียนประชาบาลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและโรงเรียนประถมศึกษาของกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2523ได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่ง คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนแล้วมีความเห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะต้องรับผิดในทางแพ่ง และเสนอรายงานดังกล่าวต่อโจทก์เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2529 เลขาธิการโจทก์ทราบเรื่องวันที่ 20 พฤษภาคม 2529 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 21 เมษายน 2530ยังไม่พ้น 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขาดอายุความไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน และศาลฎีกาเห็นว่าตามประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดนั้น โจทก์กับจำเลยต่างนำสืบพยานหลักฐานไว้แล้ว สมควรวินิจฉัยไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและวินิจฉัยอีก ซึ่งศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยประเด็นต่าง ๆ ตามลำดับไป
ประเด็นว่า โจทก์เป็นผู้ต้องเสียหายซึ่งมีอำนาจฟ้องหรือไม่และโจทก์ต้องบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องหรือไม่ เห็นว่าโจทก์ได้รับโอนกิจการทรัพย์สินหนี้สินและเงินงบประมาณส่วนที่เป็นเงินอุดหนุนงบประถมศึกษาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดในส่วนที่เกี่ยวกับโรงเรียนประชาบาลตามพระราชบัญญัติโอนกิจการบริหารโรงเรียนประชาบาลขององค์การบริหารส่วนจังหวัด และโรงเรียนประถมศึกษาของกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2523 ดังนั้น สิทธิในการฟ้องร้องผู้พึงต้องรับผิดเกี่ยวกับสัญญาจ้างเหมาในคดีนี้ตลอดจนผู้กระทำละเมิดเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวจึงโอนมาเป็นของโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและการโอนกิจการทรัพย์สินและหนี้ดังกล่าวเป็นการโอนโดยการบัญญัติแห่งกฎหมาย ไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 ลักษณะ 1 หมวด 4โจทก์จึงไม่จำต้องบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้อง
ประเด็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำละเมิดหรือไม่ เห็นว่าตามสัญญาจ้างเหมาทำครุภัณฑ์การศึกษา เอกสารหมาย จ.3, จ.4 กำหนดว่าผู้รับจ้างจะต้องจัดส่งครุภัณฑ์การศึกษาแก่โรงเรียนประชาบาลต่าง ๆในจังหวัดนครราชสีมาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 พฤษภาคม 2521การตรวจรับการจ้างของกรรมการจึงต้องไปตรวจรับ ณโรงเรียนประชาบาลต่าง ๆ ซึ่งผู้รับจ้างจะต้องนำครุภัณฑ์การศึกษาไปส่งมอบกรรมการตรวจการจ้างจึงจะสามารถรู้ได้ว่าผู้รับจ้างส่งมอบครุภัณฑ์การศึกษาภายในกำหนดเวลาตามที่ระบุในสัญญาหรือไม่นายประวิทย์ อมรสิน เจ้าหน้าที่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินพยานโจทก์เบิกความว่า ได้ไปสอบถามครูใหญ่โรงเรียนต่าง ๆและให้ครูใหญ่ทำเอกสารยืนยันวันที่ได้ตรวจรับครุภัณฑ์การศึกษาตามเอกสารหมาย ปจ.1 ถึง ปจ.43 (ศาลจังหวัดอุบลราชธานี) และได้ทำบัญชีไว้ตามเอกสารหมาย ปจ.45 ถึง ปจ.99 (ศาลจังหวัดอุบลราชธานี)ตามบัญชีนั้นปรากฏว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดเชิดชัยผลิตภัณฑ์ไม้ไทยผู้รับจ้างส่งมอบครุภัณฑ์การศึกษาแก่โรงเรียนประชาบาลล่าช้ากว่ากำหนดเวลาในสัญญาหลายโรงเรียน โดยโรงเรียนที่ส่งล่าช้ามีการส่งมอบตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2521 ถึงวันที่ 20 กันยายน2521 ส่วนห้างหุ้นส่วนจำกัดมานิตย์ค้าวัสดุก่อสร้างผู้รับจ้างอีกรายหนึ่งก็ส่งมอบครุภัณฑ์การศึกษาให้แก่โรงเรียนประชาบาลล่าช้าหลายโรงเรียนเช่นกัน โดยโรงเรียนที่ส่งล่าช้านั้นมีการส่งมอบตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2521 ถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2521นายประวิทย์ไปตรวจสอบโรงเรียนต่าง ๆ ตามหน้าที่และไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด เชื่อว่าเบิกความไปตามความจริงทั้งจำเลยที่ 1ก็เบิกความว่า การตรวจรับงานได้ตรวจที่โรงงานของผู้รับจ้างก็มีตรวจรับที่โรงเรียนก็มี แสดงว่ากรรมการตรวจการจ้างทำครุภัณฑ์มิได้ไปตรวจรับงานที่โรงเรียนประชาบาลที่ผู้รับจ้างจะต้องนำครุภัณฑ์การศึกษาไปส่งมอบ และผู้รับจ้างยังส่งงานไม่ครบด้วย แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กลับทำบันทึกการตรวจรับงานจ้างเหมาเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดเชิดชัยผลิตภัณฑ์ไม้ไทยและห้างหุ้นส่วนจำกัดมานิตย์ค้าวัสดุก่อสร้างได้สร้างงานตามสัญญาถูกต้องตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2521 และวันที่ 21 พฤษภาคม 2521 ตามลำดับ โดยคณะกรรมการตรวจการจ้างได้พร้อมกันตรวจรับเป็นที่ถูกต้องตามสัญญาแล้วสมควรจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างตามเอกสารหมาย จ.11, จ.12 นั้นย่อมทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาเสียหายไม่ได้รับมอบครุภัณฑ์การศึกษาจากผู้รับจ้างครบถ้วนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา แต่ต้องชำระเงินให้แก่ห้างผู้รับจ้างทั้งสองไปก่อน การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3จึงเป็นการทำละเมิด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งได้รับโอนกิจการทรัพย์สินและหนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับโรงเรียนประชาบาลมาจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาอนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าเพิ่งทราบคำสั่งให้เป็นกรรมการตรวจการจ้างทำครุภัณฑ์การศึกษาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2521 หลังจากสัญญาจ้างเหมาทำครุภัณฑ์สิ้นกำหนดแล้วนั้น ปรากฏว่าคำสั่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาที่ 1429/2520 และที่ 1435/2520ที่ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการตรวจการจ้างเหมาทำครุภัณฑ์การศึกษาลงวันที่ 27 กันยายน 2520 และวันที่ 30 กันยายน 2520 จำเลยที่ 2จึงได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการก่อนที่การส่งมอบครุภัณฑ์การศึกษาตามสัญญาจะสิ้นกำหนด อย่างไรก็ดีแม้จำเลยที่ 2 จะรับทราบว่าได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2521 แต่การที่จำเลยที่ 2 ได้ร่วมลงชื่อเป็นกรรมการในใบตรวจรับงานจ้างเหมาเอกสารหมายจ.11, จ.12 รับรองว่า ผู้รับจ้างได้ส่งมอบงานถูกต้องตามสัญญาและคณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจรับเป็นที่ถูกต้องตามสัญญาโดยที่ความจริงผู้รับจ้างยังส่งมอบไม่ครบถ้วนถูกต้อง ทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาเสียหาย จำเลยที่ 2 ย่อมปัดความรับผิดไม่ได้
ประเด็นที่ว่าค่าเสียหายมีเพียงใด เห็นว่า ที่จำเลยทั้งสามทำหลักฐานการตรวจรับงานเหมาเท็จว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดเชิดชัยผลิตภัณฑ์ไม้ไทย และห้างหุ้นส่วนจำกัดมานิตย์ค้าวัสดุก่อสร้างได้สร้างงานตามสัญญาถูกต้อง โดยคณะกรรมการได้พร้อมกันตรวจรับเป็นที่ถูกต้องตามสัญญาแล้วตั้งแต่วันที่ 20 และ21 พฤษภาคม 2521 แต่ความจริงห้างทั้งสองยังมิได้ส่งมอบครุภัณฑ์การศึกษาบางส่วน และคณะกรรมการตรวจการจ้างรวมทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาก็ยังมิได้รับมอบครุภัณฑ์การศึกษาในส่วนที่ยังไม่มีการส่งมอบ ห้างหุ้นส่วนจำกัดเชิดชัยผลิตภัณฑ์ไม้ไทยและห้างหุ้นส่วนจำกัดมานิตย์ค้าวัสดุก่อสร้างผู้รับจ้างจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาซึ่งยังไม่ได้รับครุภัณฑ์การศึกษาครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนดในสัญญา มีสิทธิเรียกค่าปรับจากผู้รับจ้างตามสัญญาได้ โดยไม่จำต้องบอกสงวนสิทธิไว้ การกระทำของจำเลยทั้งสามหาได้ทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาหรือโจทก์ไม่อาจเรียกค่าปรับจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเชิดชัยผลิตภัณฑ์ไม้ไทยและห้างหุ้นส่วนจำกัดมานิตย์ค้าวัสดุก่อสร้างดังที่โจทก์ฟ้องไม่การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาเสียหายคือได้จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเชิดชัดผลิตภัณฑ์ไม้ไทยและห้างหุ้นส่วนจำกัดมานิตย์ค้าวัสดุก่อสร้างเต็มจำนวน โดยยังมิได้รับครุภัณฑ์การศึกษาครบถ้วนตามสัญญา ความเสียหายของโจทก์นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว จึงให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ซึ่งเป็นกรรมการตรวจการจ้างทำครุภัณฑ์การศึกษาที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเชิดชัยผลิตภัณฑ์ไม้ไทยเป็นผู้รับจ้างร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 60,000 บาทให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการตรวจการจ้างทำครุภัณฑ์การศึกษาที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมานิตย์ค้าวัสดุก่อสร้างเป็นผู้รับจ้างร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2529”
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 60,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1