แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เช็คพิพาทเป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเพื่อชำระต้นเงิน30,000 บาทแก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้สลักหลังซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1รับผิดต่อโจทก์ตามเนื้อความในเช็คนั้น แต่เมื่อโจทก์แถลงรับในคำแก้ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และทนายจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินให้โจทก์บ้างแล้ว จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระหนี้ตามเช็คพิพาทเป็นเงิน 3,500 บาทจำเลยทั้งสี่จึงต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทต่อโจทก์เป็นเงินเพียง 3,500 บาท และแม้จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ทั้งมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่รูปคดีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ได้รับผลตามคำพิพากษานี้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 2451 และ 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัดซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย 2 ฉบับ สั่งจ่ายเงิน 30,000 บาทและ 120,000 บาท เพื่อชำระหนี้เงินยืมแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้สลักหลังเช็คดังกล่าวทั้งสองฉบับ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 150,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2, ที่ 3ให้การว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ 30,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อเดือน และให้จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็ค 2 ฉบับเพื่อเป็นประกัน นอกจากนี้โจทก์ให้จำเลยที่ 2, ที่ 4 และพันตำรวจตรีสุรพล พิศาภาค ลงชื่อด้านหลังเช็คทั้งสองฉบับไว้ จำเลยที่ 1ชำระดอกเบี้ยและเปลี่ยนเช็คใหม่ทั้งสองฉบับให้โจทก์หลายครั้งจนกระทั่งเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2525 โจทก์ให้จำเลยที่ 1เปลี่ยนเช็คใหม่ให้โจทก์ 2 ฉบับเช่นเคย จำเลยที่ 1 จึงได้สั่งจ่ายเช็คสองฉบับตามฟ้อง โจทก์ให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 สลักหลังเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าว เช็คพิพาททั้งสองฉบับไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 4 ต้องร่วมรับผิด ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 30,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันผิดนัด (2 มีนาคม 2526)จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์ จำเลยที่ 2, ที่ 3, และที่ 4อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงิน 150,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 30,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2526 เป็นต้นไปและในต้นเงิน 120,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2526เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า แม้จะได้ความว่าเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.3 เป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเพื่อชำระต้นเงิน30,000 บาท แก่โจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้สลักหลังซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1รับผิดต่อโจทก์ตามเนื้อความในเช็คนั้นก็ตาม แต่ต่อมาโจทก์แถลงรับในคำแก้ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และทนายจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินให้โจทก์บ้างแล้ว จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระหนี้ตามเช็คดังกล่าวเป็นเงิน3,500 บาท จำเลยทั้งสี่จึงต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.3 ต่อโจทก์เป็นเงินเพียง 3,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวนนี้นับแต่วันที่ 2พฤศจิกายน 2530 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.5 เป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเพื่อเป็นประกันในการติดตามทวงหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินรายนี้เท่านั้น ไม่มีมูลหนี้เป็นต้นเงิน 120,000 บาทตามสัญญากู้ยืมเงินดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ดังนั้นคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะที่ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.5เป็นเงิน 120,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ส่วนการที่จำเลยที่ 1ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ทั้งมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่รูปคดีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้จำเลยที่ 1 ได้รับผลตามคำพิพากษานี้ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) และ 247”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 3,500 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวนนี้นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2530 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์