แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อบังคับของนายจ้างที่กำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินสงเคราะห์แก่ลูกจ้างเมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ ถูก เลิกจ้างหรือลาออก หรือตาย เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่ได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หากนายจ้างประสงค์จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกข้อบังคับดังกล่าวในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง นายจ้างจะต้องได้ รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือมิฉะนั้นจะต้อง แจ้งข้อเรียกร้องตาม พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 13 จนมีการเจรจาตกลง กัน หรือหากไม่สามารถตกลง กันได้ ก็ต้อง ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ขั้นตอนของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ต่อ ไป เมื่อปรากฏว่า ข้อบังคับฉบับเดิม ไม่ได้กำหนดให้ลูกจ้างที่มีสิทธิได้ รับค่าชดเชยไม่มีสิทธิได้ รับเงินสงเคราะห์ การที่ นายจ้าง ออกข้อบังคับฉบับ ใหม่ให้ยกเลิกข้อบังคับฉบับเดิม โดย ข้อบังคับฉบับ ใหม่ได้ตัด สิทธิของลูกจ้างที่มีสิทธิได้ รับค่าชดเชยไม่ให้มีสิทธิได้ รับเงินสงเคราะห์ข้อบังคับฉบับ ใหม่จึงมีผลเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณต่อ ลูกจ้างที่ปฎิบัติ งานอยู่ก่อนมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเมื่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมิได้กระทำโดยถูกต้อง ข้อบังคับฉบับ ใหม่คงมีผลเฉพาะต่อ ลูกจ้างใหม่ที่เข้าทำงานภายหลังการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นเท่านั้น หามีผลต่อ ลูกจ้างที่ทำงานอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับฉบับ ใหม่มีผลใช้ บังคับไม่ แม้จำเลยจะได้ ยกขึ้นต่อสู้ ในคำให้การไว้แล้วว่าข้อบังคับของจำเลยเป็นคำสั่ง ระเบียบแบบแผนซึ่ง ออกโดย กฎหมายปกครอง ไม่ต้องนำมาตกลง กับลูกจ้างไม่ใช่เรื่องที่จะนำกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาใช้ บังคับก็ตาม แต่ เมื่อศาลแรงงานกลางได้ พิจารณาพิพากษาคดีเสร็จโดย ไม่มีเหตุสงสัยว่าคดีดังกล่าวไม่นำกฎหมายแรงงานมาใช้ บังคับและไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ทั้งศาลแรงงานกลางก็มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นว่ากล่าวแต่ อย่างใดอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 ประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้มีคำสั่งแต่งตั้งและบรรจุโจทก์เป็นพนักงานตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายธุรการ ต่อมาจำเลยให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุ ในขณะที่โจทก์ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานของจำเลยนั้น จำเลยมีข้อบังคับฉบับที่ 31 กำหนดให้พนักงานมีสิทธิได้รับกองทุนสงเคราะห์เมื่อพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุครบเกษียณอายุ ข้อบังคับดังกล่าวถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามข้อบังคับ ฉบับที่ 31 โจทก์มีสิทธิได้รับเงินจำนวน428,160 บาท แต่จำเลยจ่ายให้โจทก์เพียง 276,720 บาท ยังขาดอยู่อีกจำนวน 151,440 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ตามข้อบังคับดังกล่าว พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยมีข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 24 ใช้ในการจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ ตามข้อบังคับดังกล่าว พนักงานที่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์ เว้นแต่ค่าชดเชยนั้นต่ำกว่าค่าเงินสงเคราะห์ก็ให้จ่ายเพิ่มให้เท่าจำนวนที่ต่ำกว่านั้น ตามข้อบังคับนี้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์276,720 บาท เท่านั้น จำเลยมีอำนาจที่จะออกข้อบังคับ ฉบับที่ 24เพื่อให้มีผลเป็นการยกเลิกข้อบังคับฉบับที่ 31 ได้ ข้อบังคับดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การที่จำเลยออกข้อบังคับ ฉบับที่ 24 จึงไม่เป็นการขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 31 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์พ.ศ. 2519 ต่อมาจำเลยได้ออกข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยฉบับที่ 24 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. 2525 ตามคำแนะนำของกระทรวงการคลังโดยจำเลยไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้าง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 31 เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การที่จำเลยออกข้อบังคับฉบับที่ 24 โดยมิได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างและข้อบังคับดังกล่าวกำหนดตัดสิทธิของลูกจ้างที่ได้รับค่าชดเชยไม่ให้ได้รับเงินสงเคราะห์ เป็นการขัดหรือแย้งกับข้อบังคับ ฉบับที่ 31 ซึ่งไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์น้อยไปจริง พิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 31 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. 2519 มิใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแต่เป็นคำสั่ง ระเบียบแบบแผนซึ่งออกโดยกฎหมายปกครอง จำเลยไม่ต้องนำมาตกลงกับลูกจ้างและไม่ใช่เรื่องที่จะนำกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาใช้บังคับนั้น เห็นว่า ตามข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 31 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์พ.ศ. 2519 ข้อ 7, 8 กำหนดไว้ว่า “ข้อ 7 ภายใต้บังคับข้อ 10 ให้ผู้ปฏิบัติงานที่พ้นจากตำแหน่งในกรณีดังต่อไปนี้มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนสงเคราะห์ตามเกณฑ์ในข้อ 8
(1) ครบเกษียณอายุ
(2) ให้ออกหรือเลิกจ้าง เว้นแต่กรณีให้ออกหรือเลิกจ้างเพราะขาดคุณสมบัติซึ่งผู้ปฏิบัติงานได้จงใจปกปิดข้อเท็จจริงไว้ในขณะเข้าปฏิบัติงาน และกรณีให้ออกหรือเลิกจ้างเพราะขาดพื้นความรู้อยู่ก่อนได้รับการบรรจุเป็นพนักงานหรือก่อนได้รับการจ้างเป็นลูกจ้าง
(3) การลาออก
(4) ตาย
ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติงานนั้นต้องมีอายุการทำงานไม่น้อยกว่าหนึ่งปีสำหรับกรณี (1) หรือ (2) และไม่น้อยกว่าห้าปีสำหรับกรณี (3)และไม่จำกัดอายุการทำงานสำหรับกรณี (4)
ข้อ 8 ผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตามข้อ 7 มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์เป็นจำนวนเงินเท่ากับเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยอายุการทำงาน
อายุการทำงานตามวรรคหนึ่ง ให้นับแต่จำนวนปีโดยถืออายุการทำงานสามร้อยหกสิบห้าวันเป็นหนึ่งปี เศษของปีถ้าถึงหนึ่งร้อยแปดสิบสามวันให้นับเป็นหนึ่งปี ถ้าไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบสามวันให้ตัดทิ้ง”
จะเห็นได้ว่าข้อบังคับดังกล่าวของจำเลยได้กำหนดจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่ลูกจ้างเมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุถูกเลิกจ้างหรือลาออกหรือตาย จึงเป็นการจ่ายเงินสวัสดิการหรือประโยชน์อื่นของลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน ตรงกับความหมายของสภาพการจ้างตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 5 จำเลยได้ใช้บังคับกับพนักงานตลอดมา ข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 31 นี้จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่ได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องระหว่างจำเลยกับลูกจ้าง หากจำเลยประสงค์จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยฉบับที่ 31 ในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จำเลยจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเสียก่อน หรือมิฉะนั้นจะต้องแจ้งข้อเรียกร้องตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13 จนมีการเจรจาตกลงกันหรือหากไม่สามารถตกลงกันได้ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ต่อไปแต่ปรากฏว่าจำเลยได้ออกข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยฉบับที่ 24 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. 2525 ให้ยกเลิกข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรม ฉบับที่ 31 และใช้ข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 24 แทนตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2525เป็นต้นไป ตามข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 24 ได้กำหนดไว้ในข้อ 17 ว่า “พนักงานที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตามข้อบังคับนี้ แต่ถ้าค่าชดเชยที่มีสิทธิได้รับนั้นต่ำกว่าเงินสงเคราะห์ที่จะได้รับตามข้อบังคับนี้ ก็ให้จ่ายเพิ่มให้เท่าจำนวนที่ต่ำกว่านั้น” ข้อบังคับฉบับใหม่นี้ ได้ตัดสิทธิของลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่ให้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ แต่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามข้อบังคับฉบับเดิมไม่ได้กำหนดให้ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์แต่อย่างใด ข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 24ซึ่งเป็นข้อบังคับฉบับใหม่จึงมีผลเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณต่อลูกจ้างเดิมที่ปฏิบัติงานอยู่ก่อนวันที่ 20 กรกฎาคม 2525 เมื่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงมิได้กระทำโดยถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าว การประกาศใช้ข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 24 ของจำเลยคงมีผลเฉพาะลูกจ้างใหม่ที่เข้าทำงานภายหลังการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเท่านั้นหามีผลต่อลูกจ้างที่ทำงานอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมฉบับที่ 24 มีผลใช้บังคับคือวันที่ 20 กรกฎาคม 2525 จึงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตามข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรม ฉบับที่ 31 ข้อ4 ข และ 8 เดิม จำเลยจะนำเอาข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรม ฉบับที่ 24มาใช้บังคับเพื่อเป็นเกณฑ์ในการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่โจทก์โดยการจ่ายเงินสงเคราะห์เฉพาะส่วนที่มากกว่าค่าชดเชยทำให้โจทก์ได้รับเงินสงเคราะห์น้อยลงหาได้ไม่ โจทก์คงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์เต็มจำนวนตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 31 อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า ข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยฉบับที่ 31 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์พ.ศ. 2519 ไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยไม่ต้องนำมาตกลงกับลูกจ้าง จึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า ข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 31 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. 2519เป็นคำสั่งระเบียบแบบแผนซึ่งออกโดยกฎหมายปกครอง ไม่ต้องนำมาตกลงกับลูกจ้าง ไม่ใช่เรื่องที่จะนำกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาใช้บังคับเห็นว่า ประเด็นนี้แม้จำเลยได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การ แต่ศาลแรงงานกลางได้พิจารณาพิพากษาคดีนี้เสร็จแล้ว โดยไม่มีเหตุสงสัยว่าคดีนี้ไม่นำกฎหมายแรงงานมาใช้บังคับและไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง และศาลแรงงานกลางมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นว่ากล่าวแต่อย่างใด จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
พิพากษายืน.