คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว มาตรา 6 วรรคสอง คู่สมรสจะต้องลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญในทะเบียนต่อหน้านายทะเบียนและต่อหน้าพยานสองคนซึ่งต้องลงลายมือชื่อไว้ในทะเบียนในขณะนั้นด้วย แต่ตามทะเบียนการสมรสปรากฏว่ามีลายมือชื่อพยานเพียงคนเดียว จึงถือไม่ได้ว่าได้มีการลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานสองคน เป็นการมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด การจดทะเบียนสมรสจึงไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

ย่อยาว

ผู้ร้องที่ ๑ ยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องที่ ๑ เป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายบุญอยู่ ลินทมิตร ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๓๙ โดยมิได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้จัดการมรดกไว้ การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง และผู้ร้องที่ ๑ มิได้เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องที่ ๑ เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้ร้องที่ ๒ ยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องที่ ๒ เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องที่ ๑ และต่อมาขอถอนคำร้องขอ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ผู้คัดค้านทั้งห้ายื่นคำคัดค้านทำนองเดียวกันว่า ผู้ร้องที่ ๑ มิใช่ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายเนื่องจากนายทะเบียนไม่ได้ลงลายมือชื่อในทะเบียนการสมรส ผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นบุตรผู้ตายกับนางตอง ลินทมิตร ผู้คัดค้านที่ ๒ เป็นบุตรผู้ตายกับนางสว่าง แซ่มอ ผู้คัดค้านที่ ๓ และที่ ๔ เป็นบุตรผู้ตายกับนางจำลอง ห้วยหงษ์ทอง ผู้คัดค้านที่ ๕ เป็นบุตรผู้ตายกับนางสาวเกษแก้ว กิจโสภี ผู้ตายจดทะเบียนรับรองผู้คัดค้านที่ ๒ เป็นบุตร และได้รับรองโดยพฤติการณ์ว่าผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ เป็นบุตร ผู้ตายยังมีบุตรที่เกิดจากภริยาอื่นอีกหลายคน ผู้ร้องที่ ๑ ยื่นคำร้องขอจัดการมรดกโดยปิดบังทายาท ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ยกคำร้องขอและตั้งผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ ๒ นางจำลองและนางสาวเกษแก้วเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องที่ ๑
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องที่ ๑ และตั้งผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ ๒ นางจำลอง ห้วยหงษ์ทอง และนางสาวเกษแก้ว กิจโสภี ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้ร้องที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้ร้องที่ ๑ เป็นผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๕ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.๒๔๗๘ มาตรา ๖ ได้บัญญัติถึงวิธีการและขั้นตอนการขอจดทะเบียนสมรสและการจดทะเบียนสมรสก่อนที่นายทะเบียนจะลงลายมือชื่อเป็นสำคัญในทะเบียนสมรสตามมาตรา ๗ โดยมาตรา ๖ วรรคสอง บัญญัติว่า “เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียน ผู้ร้องต้องลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญในทะเบียนต่อหน้านายทะเบียนและต่อหน้าพยานสองคนซึ่งต้องลงลายมือชื่อไว้ในทะเบียนในขณะนั้นด้วย…” แต่ตามทะเบียนการสมรส ปรากฏว่ามีลายมือชื่อพยานเพียงคนเดียว จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องที่ ๑ กับผู้ตายได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าพยาน ๒ คน เมื่อผู้ร้องที่ ๑ กับผู้ตายมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด การจดทะเบียนสมรสระหว่างผู้ร้องที่ ๑ กับผู้ตายจึงไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายและกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการจดทะเบียนสมรสรายนี้ไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายเพราะเหตุนายทะเบียนมิได้ลงลายมือชื่อในทะเบียนหรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่มีผลต่อรูปคดี
พิพากษายืน.

นายจำแลง กุลเจริญ ผู้ช่วยฯ
นายเจษฎา ชุมเปีย ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นายกีรติ กาญจนรินทร์ ผู้ช่วยฯ/ตรวจ

Share