คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามซึ่งศาลได้พิพากษาตามยอมไปแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีบ้านของจำเลยที่ 2 ปลูกอยู่ในที่ดินที่ตกลงแบ่งให้จำเลยที่ 3 และมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 2 รื้อไปได้ การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอ้างว่ามีบ้านของตนอยู่ในที่ดินนั้นและจะรื้อไป แต่จำเลยที่ 3 ขัดขวาง จึงขอให้ศาล ห้ามนั้น เป็นการร้องขอนอกเหนือจากสัญญาประนีประนอมยอมความ หากจำเลยที่ 2 จะมีสิทธิในบ้านดังกล่าวประการใด และจำเลยที่ 3 กระทำการขัดขวางอันเป็นการโต้แย้งสิทธิ จำเลยที่ 2 ก็ชอบที่จะต้องฟ้องร้องเป็นคดีใหม่จะร้องขอให้ศาลบังคับในคดีเดิมหาได้ไม่

ย่อยาว

คดีนี้ เป็นกรณีพิพาทกันในชั้นบังคับคดี เดิมโจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกจากจำเลยทั้งสามและได้ตกลงประนีประนอมกัน โดยจำเลยทั้งสามตกลงให้เงินโจทก์คนละจำนวน โจทก์ไม่ขอเกี่ยวข้องกับมรดก และจำเลยทั้งสามตกลงแบ่งมรดกกันเป็นส่วนสัด เฉพาะที่ดินโฉนดที่ 7053ครึ่งหนึ่งทางด้านตะวันออก กับบ้านเลขที่ 86 ที่ปลูกอยู่บนที่ดินส่วนนั้น ได้ตกลงกันให้เป็นของจำเลยที่ 3 หลังจากศาลได้พิพากษาตามยอมไปแล้ว จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า มีบ้านของจำเลยที่ 2 ปลูกติดกับบ้านเลขที่ 86 อีก 2 หลัง จำเลยที่ 2 จะรื้อไป แต่จำเลยที่ 3 ขัดขวาง ขอให้ศาลสั่งห้ามจำเลยที่ 3

จำเลยที่ 3 คัดค้านว่า เป็นบ้านหลังเดียวกัน และตกเป็นของจำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียว

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สภาพบ้านพิพาทเป็นหลังเดียวมีสามหลังคาซึ่งตามสัญญาระบุชัดว่า จำเลยที่ 3 ได้ที่ดินโฉนดที่ 7053 ด้านตะวันออกครึ่งหนึ่งกับบ้าน แสดงว่าตอนทำสัญญายอมมีบ้านหลังเดียวหากมีหลายหลัง จำเลยที่ 2 ก็น่าจะทักท้วง จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยในคดีนี้ไม่ปรากฏเลยว่ามีบ้านของจำเลยที่ 2 ปลูกอยู่ในที่ดินส่วนของจำเลยที่ 3 และมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 2 รื้อไปได้การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอ้างว่ามีบ้านของจำเลยที่ 2 อยู่ในที่ดินมรดกซึ่งตกลงกันให้เป็นของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการร้องขอนอกเหนือจากสัญญาประนีประนอมยอมความ หากจำเลยที่ 2 จะมีสิทธิในบ้านดังกล่าวประการใด และจำเลยที่ 3 กระทำการขัดขวางอันเป็นการโต้แย้งสิทธิ ก็ชอบที่จำเลยที่ 2 จะต้องฟ้องร้องเป็นคดีใหม่จะมาร้องขอให้ศาลบังคับในคดีนี้หาได้ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองรับพิจารณาคำร้องของจำเลยที่ 2 แล้ววินิจฉัยให้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ชอบที่จะยกคำร้องเสียโดยไม่จำต้องวินิจฉัย

พิพากษายืนในผลที่ให้ยกคำร้อง แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่ 2จะฟ้องใหม่

Share